การบูชาพระปางประจำวันเกิดเสริมมงคลชีวิต

พระพุทธรูป

พระประจำวันอาทิตย์

คือ ปางถวายเนตร อยู่ในท่ายืน มือทั้งสองข้างประสานกันอยู่บริเวณหน้าตัก พระเนตรทั้งสองข้างลืมขึ้นและเพ่งมองไปด้านหน้า ปางนี้มีที่มาจากการที่ครั้งพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ได้ประทับเสวยวิมุตติสุขใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลาเจ็ดวัน และไปยืนกลางแจ้งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ โดยมองอยู่เป็นเวลาเจ็ดวัน พระเนตรนั้นไม่กระพริบเลย

พระประจำวันจันทร์

คือ ปางห้ามญาติ กับปางห้ามสมุทร ลักษณะปางห้ามญาตินี้จะยกเพียงมือขวาขึ้นมาบริเวณหน้าอกเพียงข้างเดียวเท่านั้น ที่มาของปางนี้เนื่องจาก การเดินทางไปห้ามพระญาติระหว่างฟากพระบิดาและพระมารดา ที่ทะเลาะแย่งแม่น้ำโรหิณี ส่วนลักษณะของปางห้ามสมุทร คือ ยกมือทั้งสองข้างบริเวณหน้าอก ที่มาคือ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงปาฏิหารย์เพื่อทำลายทิฐิมานะของเหล่าชฎิลทั้งหลาย ด้วยการห้ามฝน ห้ามลม ห้ามพายุ และห้ามน้ำ ไม่ให้ท่วมบริเวณที่ประทับ ทำให้พวกชฎิลเห็นความมหัศจรรย์ และยอมบวชในพุทธศาสนา

พระประจำวันอังคาร

คือ ปางไสยาสน์ มีลักษณะบรรทมตะแคงขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนหมอน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย ส่วนพระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่ข้างหมอน พระพุทธรูปปางนี้มีที่มาจากครั้งที่พระพุทธองค์รับสั่งให้พระจุนทะเถระปูอาสนะลงระหว่างต้นรังคู่หนึ่ง แล้วทรงบรรทมแบบสีหไสยาสน์ โดยตั้งใจจะไม่ลุกขึ้นมาอีก การสร้างปางนี้จึงเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน

พระประจำวันพุธ

คือ ปางอุ้มบาตร มีลักษณะที่อยู่ในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองข้างถือบาตรไว้ ส่วนพระประจำวันพุธกลางคืน ได้แก่ ปางป่าเลไลยก์ มีลักษณะที่อยู่ในอิริยาบถนั่งประทับบนก้อนหิน พระบาททั้งสองวางอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนเข่า พระหัตถ์ขวาวางหงายบนเข่า มีที่มาจากตอนที่พระพุทธเจ้าเหาะขึ้นไปในอากาศต่อหน้าพระญาติ เพื่อลดทิฐิของพระญาติลง พร้อมทั้งเทศนา แต่หลังจากนั้นพระญาติไม่ได้ถวายอาหาร พระพุทธเจ้าจึงได้พาเหล่าพระสาวกเสด็จจาริกไปตามถนนเพื่อโปรดสัตว์ ชาวบ้านได้เห็นพระจริยาวัตรอันงดงามขณะทรงถือบาตร ก็พากันสรรเสิญ

พระประจำวันพฤหัสบดี

คือ ปางสมาธิ มีลักษณะอยู่ในอิริยาบถนั่งสมาธิ พระบาทขวาทับอยู่พระบาทซ้าย ส่วนพระหัตถ์ซ้อนกันอยู่บนตัก ปางนี้มาจากตอนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือ วันวิสาขบูชา นั่นเอง

พระประจำวันศุกร์

คือ ปางรำพึง มีลักษณะอยู่ในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองข้างยกประสานขึ้นที่อก โดยพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย ที่มาคือ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ และคิดได้ว่าธรรมที่ตรัสรู้นั้นลึกซึ้งละเอียดอ่อนเกินกว่ามนุษย์จะเข้าใจได้ จึงดำริว่าจะไม่สั่งสอนธรรมนี้แก่มนุษย์ แต่ท้าวสหัมบดีพรหมได้ขอให้พระองค์ทรงสั่งสอนชาวโลกอีกครั้ง โดยกล่าวว่า ยังมีมนุษย์กิเลสเบาบางอยู่บ้าง ที่สามารถฟังธรรมและเข้าใจ

พระประจำวันเสาร์

คือ ปางนาคปรก มีลักษณะที่อยู่ในอิริยาบถนั่งสมาธิ คล้ายกับปางสมาธิ แต่มีพญานาคแผ่หัวเป็นพังพานขึ้นจากไหล่ไปปรกพระเศียรของพระพุทธรูป ที่มาคือ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ขณะกำลังนั่งบำเพ็ญสมาธิอยู่นั้นฝนตกลงมาไม่หยุด จึงมีพญานาคราชตนหนึ่งชื่อว่า มุจลินท์นาคราช ได้ขนดร่างเป็นวงกลมเจ็ดรอบ แล้วแผ่พังพานปกคลุมพระพุทธเจ้าไว้ เมื่อฝนหยุดตกได้แปลงร่างเป็นชายหนุ่มเพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

สุดท้ายนี้ ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกได้โปรดดลบันดาลและอภิบาลรักษาผู้อ่านทุกท่านและครอบครัว จงประสบศุภสิริสวัสดิ์พิพัฒมงคลสมบูรณ์ พูลผลในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ

พระพุทธรูป
พระพุทธรูป

กลับหน้าแรก