เรื่องสั้น “สองอย่างห้า” โดย ธาร ยุทธชัยบดินทร์

มุมเรื่องสั้นไทย-สองอย่างห้า-โดย-ธาร-ยุทธชัยบดินทร์

มุมเรื่องสั้นไทย

ยุคน้ำมันแพงอย่างนี้ อะไรก็พากันขึ้นราคาไปเสียหมด และเมื่อข้าราชการได้รับเงินเดือนเพิ่ม บรรดาพ่อค้าแม่ค้าก็ไม่มีเหตุผลอะไรอีกแล้ว ที่จะคงราคาสินค้าไว้ให้ขาดทุนกำไรอีกต่อไป ทว่าต้องยกเว้นคุณพ่อของผมไว้คนหนึ่ง

คุณพ่อของผมซึ่งเป็นนักธุรกิจระดับหลายร้อยล้านบาท ถึงกับพูดออกมาอย่างอดรนทนไม่ได้ว่า “ยังงี้ชาวบ้านคนยากจนมีแต่ตายกับตาย แต่ก่อนเคยกินเต็มท้อง ตอนนี้ต้องมากินแค่ครึ่งท้อง แล้วจะมีชีวิตอยู่กันได้ยังไง”

คุณพ่อคงจะบ่นไปตามข่าวสินค้าขึ้นราคา ผมคิด อย่างไรก็ตาม เพียงไม่กี่วันต่อมา ผมถึงได้รู้ว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น เมื่อเลขานุการิณีของคุณพ่อโทรศัพท์มาสอบถามเรื่องราวบางประการ“ช่วงนี้ท่านป่วยไข้ไม่สบายหรือเปล่าคะ”

ผมตอบไปว่า ก็เห็นสบายดีกินอิ่มนอนหลับ แล้วยังแข็งแรงขนาดไปออกรอบตีกอล์ฟแทบทุกวัน สมองก็ยังแจ่มใสคิดทำอะไรใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา

“คุณเป็นเลขา คุณน่าจะรู้ดีกว่าผมนะ ว่าคุณพ่อของผมยังมีพลังขนาดไหน นี่ผมก็ได้ยินแว่ว ๆ มา เห็นว่าคุณพ่อกำลังจะลงทุนในธุรกิจด้านอาหารด้วย”

“เรื่องนี้แหละค่ะ ที่ดิฉันคิดว่าท่านคงไม่ค่อยสบาย…”

เลขานุการิณีของคุณพ่อมีน้ำเสียงคล้ายกับไม่ค่อยอยากพูดออกมาสักเท่าไร จนผมต้องเร่งเร้า ถึงได้รู้ความจริงว่า คุณพ่อกำลังจะเปิดร้านขายอาหารในย่านชุมชนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ฟังดูก็ไม่เห็นน่าแปลกตรงไหน คงเป็นร้านสไตล์ฝรั่งเศสอย่างที่คุณพ่อชอบนั่นเอง

“ไม่ใช่ยังงั้นสิคะ ร้านที่ว่าเป็นร้าน… เอ้อ ร้านขายข้าวแกงน่ะค่ะ”

ครั้งแรกที่ได้ยินผมถึงกับหัวเราะลั่น คุณพ่อของผมนี่นะจะเปิดร้านขายข้าวแกง แทนที่จะเป็นร้านอาหารหรูหรา ใช้เงินทุนก้อนโตให้สมกับความร่ำรวยของคุณพ่อ (ความจริงของผมด้วย ถ้าเพื่อนฝูงรู้เข้าคงอับอายขายหน้าแน่ ๆ) และประโยคต่อมาก็ทำให้ผมหัวเราะไม่ออกอีกต่อไป

“ท่านจะขายข้าวแกงในราคาสองอย่างห้าบาทค่ะ”

ตกเย็นวันนั้นเอง เมื่อผมเจอหน้าคุณพ่อก็รีบถามถึงเรื่องที่ได้ยินมาทันที

“การข่าวของแกไวใช้ได้ไอ้ลูกรัก ถูกต้องแล้ว พ่อจะเปิดร้านขายข้าวแกง”

“แต่เท่าที่ผมทราบมา ร้านที่คุณพ่อจะทำนี่ มันขายราคาถูกมากจนผิดปกติไม่ใช่หรือครับ”

“ไม่ผิดปกติหรอกสำหรับความสุขของคนยาก พ่อตั้งราคาไว้แล้ว ข้าวหอมมะลิเกรดเอราดแกงหรือกับข้าวสองอย่าง ขายแค่ห้าบาท แถมแกงจืดร้อน ๆ หอมกรุ่นอีกถ้วย น้ำแข็งน้ำเย็นฟรี”

เป็นอีกครั้งที่ผมต้องหัวเราะออกมา แม้จะเคยหัวเราะไม่ออกมาครั้งหนึ่งแล้วก็ตาม เกือบจะหลุดปากถามไปว่า “คุณพ่อบ้าหรือเปล่าครับ” แต่ด้วยรัศมีของเท้าคุณพ่อที่น่าจะเหวี่ยงถึงปากผม จึงคิดว่าเก็บมันไว้กินน้ำพริกจะดีกว่า

“แกคงคิดว่าพ่อเสียสติล่ะซิ แววตาแกมันฟ้อง เอาเถอะ ใครจะคิดยังไงก็ช่าง แต่พ่ออยากให้ลูกของพ่อรู้ว่า ถึงเวลาแล้วที่ตระกูลของเราจะต้องคืนกำไรให้แก่สังคมบ้าง แกรู้มั้ย ตั้งแต่รุ่นคุณปู่มาแล้วที่เรารีดเลือดกับปูมาโดยตลอด ถึงได้มีฐานะเป็นปึกแผ่นเช่นทุกวันนี้”

ผมพยักหน้าเออออ แต่สุดท้ายอดคันปากถามไม่ได้ “คุณพ่อกำลังวางแผนลงเล่นการเมือง หรือว่าจะตั้งมูลนิธิทำการกุศลครับ”

“ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง” คุณพ่อตอบและทำสีหน้าจริงจังมากยิ่งขึ้น “ที่พ่อทำเพราะพ่อสงสารชาวบ้านผู้ยากไร้ ร้านขายข้าวแกงของพ่อเกิดขึ้นมา เพราะข้าวแกงเป็นอาหารจานด่วนของคนไทยระดับรากหญ้า แต่ทุกวันนี้กลับมีราคาแพงขึ้น ในขณะที่คุณภาพต่ำลง พ่ออยากให้ชาวบ้านได้กินแกงเขียวหวานไก่ที่มีเนื้อไก่เยอะ ๆ เครื่องแกงดี ๆ น้ำข้น ๆ ไม่ใช่ใสโจ๋งเจ๋งยังกับน้ำล้างจาน เมนูผักก็ต้องเป็นผักปลอดสารพิษ มีกุ้งปลาชิ้นโต ๆ น่ากิน สรุปว่าทุกอย่างต้องใช้วัตถุดิบอย่างดี พ่อครัวฝีมือต้องเยี่ยม ทุกอย่างพ่อเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว อาจต้องใช้เงินมากหน่อย แต่เพื่อชาวบ้านผู้น่าสงสาร พ่อยอมว่ะ”

จากนั้นคุณพ่อก็คุยฟุ้งถึงโครงการร้านข้าวแกงเพื่อประชาชนต่อไปอย่างไม่รู้เบื่อหน่าย ส่วนผมเองได้แต่ทนนั่งฟังเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะโบราณว่าไว้ “น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ” อีกประการหนึ่ง ผมสังเกตเห็นแววตามุ่งมั่นของคุณพ่อและความจริงใจ นั่นทำให้ผมเริ่มรู้สึกซาบซึ้งขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก เพิ่งจะมีวันนี้ที่ผมได้รู้ความจริงเสียทีว่า คุณพ่อเป็นคนมีน้ำจิตน้ำใจต่อผู้คนระดับล่างอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

“คุณพ่อครับ ผมอยากจะขอช่วยโครงการนี้ของคุณพ่อด้วยคนครับ”

“ได้สิ” คุณพ่อฉีกยิ้มกว้าง “เราสองคนจะร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตและคุณภาพกระเป๋าตังค์ของชาวบ้าน ให้พวกเขาได้กินอิ่มกินอร่อย นอนตาหลับอย่างเป็นสุขตลอดไป”

ในที่สุด ด้วยอำนาจเงินของคุณพ่อ ทุกสิ่งทุกอย่างก็สำเร็จได้สมความปรารถนา ร้านข้าวแกงเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยใบปลิว แผ่นพับ ป้ายผ้า ธงทิว และคัตเอาต์ขนาดใหญ่ใกล้สี่แยกไฟแดงที่ร้านเปิดบริการอยู่ ซึ่งเป็นทำเลที่ใครเห็นก็ต้องนึกว่าเหมาะจะทำเป็นร้านสะดวกซื้อเจ้าดังเสียมากกว่า ด้วยความที่เป็นอาคารพาณิชย์ขนาดสามคูหาอยู่หัวมุมถนน มีผู้คนผ่านไปมาไม่ขาดสาย

“ณ ที่แห่งนี้ ชาวบ้านที่เคยอดอยากปากไหม้จะต้องปากมันกันทุกวันและทุกคน” คุณพ่อบอกขณะพาผมเดินสำรวจไปทั่วร้านที่ตกแต่งไว้เป็นระเบียบเรียบร้อย พนักงานทุกคนหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสเพราะได้เงินเดือนดีสวัสดิการเยี่ยม เพื่อที่พวกเขาจะได้มีความรู้สึกดี ๆ ในการให้บริการลูกค้า คุณพ่อของผมอธิบาย นั่นทำให้ผมรู้สึกขอบตาร้อนผ่าว ไม่ใช่อิจฉานะครับ แต่เกิดความซาบซึ้งใจเต็มตื้นในอก ถ้าประเทศเรามีคนอย่างคุณพ่อสักโหลสองโหล ทุกมื้อทุกจานของชาวบ้านคงจะมีแต่อาหารที่มากไปด้วยคุณภาพและปริมาณ แถมยังถูกขนาดคนจนที่สุดยังต้องห่างเหินกับคำว่า “หิวโหย” ตลอดไปอย่างแน่นอน

จากนั้นคุณพ่อได้พาผมมายืนหน้าร้านเพื่อคอยต้อนรับลูกค้ารายแรก ซึ่งคุณพ่อตั้งใจว่าจะแถมผัดเผ็ดนกกระจอกเทศให้นำกลับไปกินที่บ้านอีกถุงใหญ่ด้วย

“นั่นไง มีคนกลุ่มใหญ่เดินมาที่ร้านแล้ว” คุณพ่อสะกิดให้ผมดูอย่างตื่นเต้น อีกไม่นานหรอก พวกเขาจะได้กินอาหารแสนอร่อยอย่างเบิกบานใจ

“ร้านเปิดใหม่หรือคะ” หญิงสาวคนหนึ่งในกลุ่มถามขึ้น ทั้งที่ไม่น่าถามเพราะเห็น ๆ กันอยู่ ทว่าด้วยความที่ลูกค้าต้องถูกต้องเสมอทำให้ผมตอบไปว่า

“ใช่ครับ เรียนเชิญด้านในได้เลยครับ อาหารคุณภาพดีราคาถูก รอบริการทุกคนอยู่แล้วครับ”

“ดูหน้าตาอาหารในตู้แล้วไม่น่าจะถูกเลยนะคะ”

ผมกับคุณพ่อรีบชี้ไปที่ป้ายบอกราคาแทบจะพร้อมกันโดยไม่ได้นัดไว้

“สองอย่างห้าบาท?” ใครคนหนึ่งร้องเสียงหลง

“ครับ อาหารทุกรายการจำหน่ายในราคาสองอย่างห้าครับ และทางร้านยังแถมแกงจืดร้อน ๆ ให้อีกหนึ่งถ้วย น้ำแข็งน้ำเย็นฟรีตลอดครับ”

ผมเห็นคนในกลุ่มนั้นหันหน้าไปกระซิบกระซาบกัน ก่อนจะมีสาวนางหนึ่งหันหน้ากลับมาขอบคุณด้วยสีหน้าเกรงใจ แล้วขอตัวเดินจากไป

“เกิดอะไรขึ้นวะ” คุณพ่อของผมครางขึ้นมาอย่างงงงวย

“พวกเขาคงจะคิดว่าตัวเองฝันไปน่ะครับ เลยรีบไปตื่นเสียก่อน แล้วค่อยกลับมากิน” ผมยิ้มแห้ง ๆ พยายามพูดปลอบใจคุณพ่อ

ไม่นานก็มีชายสองคนเดินผ่านมา ต่างชวนกันหยุดดูป้ายราคาอาหาร

“สองอย่างห้าเรอะ”

“ครับ เชิญรับประทานด้านในได้เลยครับ เราพร้อมให้บริการแล้ว” คุณพ่อพยายามหาลูกค้าคนแรกของร้านอย่างเต็มที่

“กินได้ชัวร์รึเปล่าเนี่ย”

“ได้ซีครับ วัตถุดิบทุกอย่างคัดสรรอย่างมีคุณภาพ รสชาติแสนอร่อยจากเชฟฝีมือระดับห้าดาว อย่ารีรอเลยครับ เชิญข้างในเลยครับ”“ไม่มีชาร์จแน่นะ”

“ไม่มีแน่นอนครับ”

ต้องยืนยันอย่างหนักแน่น ชายทั้งสองถึงได้ตัดสินใจเดินเข้าร้าน แล้วสั่งอาหารมากินกันอย่างเอร็ดอร่อย

เวลาผ่านไป มีลูกค้าทยอยเข้ามาเพิ่มบ้างเล็กน้อย หลังจากที่หลายคนได้แต่เมียงมอง และหลายคนเดินผ่านไปหลังจากเห็นป้ายบอกราคา

“ทุกอย่างอร่อยมากค่ะ” ลูกค้ารายหนึ่งเอ่ยปากชม ขณะควักเหรียญห้าบาทส่งให้คุณพ่อ “ใส่สารปรุงแต่งอะไรเป็นพิเศษรึเปล่าคะ”

“โอ๊ย ไม่มีหรอกครับ ความอร่อยนั่นเป็นเพราะเชฟฝีมือดี ผมจ้างมาแพงมาก”

ลูกค้าสาวฟังอย่างงง ๆ ก่อนจะรีบเดินออกไป ส่วนคุณพ่อหันกลับมาทางผม พลางบอกว่ารู้สึกเพลียอย่างไรชอบกล จะขอตัวกลับไปพักผ่อนที่บ้านก่อน ผมคิดในใจว่าสมควรแล้ว อยากตื่นขึ้นมาตั้งแต่ไก่ยังไม่โห่ทำไมล่ะ คงจะเป็นเพราะเห่อร้านข้าวแกงมากเป็นพิเศษนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไรหรอก

“แกก็อยู่ดูแลลูกค้าไปก่อนแล้วกัน บริการให้ดี อย่าให้มีอะไรขาดตกบกพร่อง”

“ไม่ต้องห่วงครับ ความสุขของคนยากคือความสุขของคุณพ่อ ส่วนความสุขของคุณพ่อคือความสุขของผม”

“ถูกต้อง ความสุขของพ่อคือการได้เห็นชาวบ้านที่มากินอาหารที่นี่ มีความสุขกลับไปว่ะ”

คุณพ่อสมหวังแน่ ผมคิด จากนี้ไปทุกคนจะได้พบแต่อาหารชั้นดีที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรง มีกำลังสู้ชีวิตในเมืองหลวงได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

แต่แล้วตอนบ่ายของวันนั้นก็เกิดเรื่องที่ทำให้ลูกค้าคนหนึ่งไม่มีความสุขขึ้นมาจนได้

ขณะที่ผมกำลังโทรศัพท์อยู่ในครัว ก็ได้ยินเสียงเอะอะชุลมุนดังมาจากด้านนอกจึงรีบออกไปดู ภาพที่เห็นทำให้ผมรู้สึกตกใจ เพราะผู้หญิงคนหนึ่งกำลังอาเจียนอย่างเอาเป็นเอาตาย มีพนักงานหลายคนดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งลูบหลังลูบไหล่ บางคนส่งกระดาษเช็ดปากให้พร้อมยาดม ขณะที่ลูกค้ารายอื่นเบือนหน้าหนี

“เกิดอะไรขึ้น” ผมถามพนักงานที่อยู่ใกล้ที่สุด ก็ได้รับคำตอบว่าลูกค้ารายนี้เข้ามาสั่งอาหาร เมื่อนั่งกินจนหมดจานได้สั่งเพิ่มอีก จากนั้นก็อาเจียนออกมาอย่างที่เห็น

ผมพยักหน้าอย่างเข้าใจ แม้ความจริงจะไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมต้องมาอาเจียนในร้านจนวุ่นวายไปหมด แต่ดูจากสภาพการแต่งกายของลูกค้าแล้ว ก็ทำให้พอคาดคะเนได้ว่าฐานะคงไม่สู้จะดีสักเท่าไรนัก จึงเกิดความสงสารขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก ตามนิสัยที่น่าจะติดหรือระบาดมาจากคุณพ่อของผมนั่นเอง ผมรีบสั่งการให้พนักงานสองคนประคองลูกค้าหน้าตาซีดเซียวไปขึ้นรถแท็กซี่เพื่อพาส่งโรงพยาบาล โดยมีผมตามไปดูแลอย่างใกล้ชิดราวกับญาติสนิท

เมื่อถึงโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในย่านนั้น ลูกค้าร้านอาหารของคุณพ่อก็ได้รับการบริการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากคุณพ่อของผมถือหุ้นโรงพยาบาลอยู่ด้วย บริการจึงทันใจหายห่วง

“เป็นไงบ้างครับคุณหมอ”

“ไม่ต้องห่วงครับ ผู้ป่วยเพียงแต่มีอาการกระเพาะอาหารอักเสบ คงเป็นเพราะกินอาหารไม่ค่อยตรงเวลา หมอสอบถามดูแล้ว เห็นบอกว่าหลังสุดนี่ไม่มีอะไรจะกินเลยครับ เพราะเหลือเงินแค่สี่บาท แต่ทนหิวไม่ไหวเลยไปกินอาหารที่ร้าน กะว่าจะติดไว้ก่อนหนึ่งบาท พอได้กินก็รีบเสียจนกระเพาะรับไม่ทัน เลยเกิดอาการลมตีขึ้นน่ะครับ”

คุณหมออธิบายอะไรอีกยืดยาว ผมได้แต่ฟังหูซ้ายทะลุหูขวา ใจลอยไปไกล อยากบอกคุณพ่อเหลือเกินว่า ในโลกใบนี้ยังมีชาวบ้านที่ยากจนข้นแค้นกว่าที่คุณพ่อคิดไว้มาก และคงมีแต่คุณพ่อเท่านั้นที่จะช่วยเหลือผู้ยากไร้เหล่านี้ได้อย่างดีที่สุด

หลังได้รับรายงานจากผมทางโทรศัพท์ คุณพ่อก็เป็นห่วงมาก จึงสั่งให้พนักงานจำหน่ายอาหารแก่ลูกค้าทุกคนไม่ว่าจะมีเงินหรือไม่ก็ตาม คนที่ไม่มีจ่ายหรือไม่พอจ่ายให้ลงบัญชีไว้ก่อน หากมีเงินวันไหนค่อยนำมาชำระคืน จะไม่มีการเร่งรัดหนี้สินโดยนักทวงหนี้มืออาชีพ หรือขึ้นป้ายประจานไว้ที่หน้าร้านแต่อย่างใด

“ทำไมคุณพ่อไม่แจกฟรีไปเลยละครับ จะได้สิ้นเรื่องสิ้นราว” ผมถาม

“เฮ้ย นี่มันร้านอาหาร ไม่ใช่มูลนิธิ การซื้อการขายจะทำให้ชาวบ้านยังเห็นคุณค่าของอาหาร ไม่กินทิ้งกินขว้างเหมือนของฟรี คนที่มาทีหลังจะได้มีกินเหมือนกัน”

พนักงานทุกคนพากันอมยิ้มขณะรับทราบนโยบายใหม่ เด็กในร้านคงคิดเหมือนผม เอ๊ะ หรือว่าอาจคิดแตกต่างไปก็เป็นได้ แต่อย่างน้อยพวกเขาก็คงพึงพอใจ ไม่อย่างนั้นคงไม่อมยิ้มกัน ผมบอกตัวเองอย่างนั้น

เวลายังคงขยับผ่านไปเรื่อย ๆ อาหารในตู้ยังเหลืออีกบานเบอะ ลูกค้าในร้านตอนนี้มีเพียงคุณยายแก่ ๆ คนเดียวเท่านั้น อย่างนี้น่าจะถือว่าเป็นลูกค้าวีไอพี คิดแล้วผมจึงเดินเข้าไปหา

“คุณยายมาทานข้าวคนเดียวหรือครับ”

คุณยายเงยหน้าจากจานข้าวราดพะแนงเนื้อโคขุน แกล้มกับปลาสลิดทอดตัวเท่าฝ่ามือ และแกงจืดเต้าหู้ปลาสาหร่าย

“ถามยายเหรอจ๊ะ พ่อหนุ่ม”

“ครับ ก็ในร้านมีคุณยายเป็นลูกค้าอยู่คนเดียว” ผมยิ้มอย่างแห้งแล้ง

“ลูกหลานยายมันไม่กล้ามากินด้วย…”

“อ้าว ทำไมเป็นงั้นล่ะครับ อาหารไม่ถูกรสนิยมหรือว่าไม่มีเงิน ถ้าเป็นอย่างแรก ผมจะให้เชฟเพิ่มเมนูพิเศษอย่างสเต๊กหรือซูชิ ถ้าเป็นอย่างหลังติดไว้ก่อนก็ได้ครับ สบายอยู่แล้ว”

“พวกเขากลัวกันน่ะ เห็นว่ายังงั้น” คุณยายอธิบายและยิ้มปากกว้างจนแลเห็นฟันที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่ซี่ ก่อนจะพูดต่อไปว่า “คนแถวบ้านยายพูดกันว่า ร้านนี้คงเอาของไม่ดีมาขาย หรือไม่ก็เอาไก่ที่เป็นไข้หวัดนกตายมาทำให้กิน ถึงได้ขายถูกขนาดนี้”

“เข้าใจผิดกันไปหมดแล้วครับ ทางร้านคัดแต่วัตถุดิบชั้นดีนะครับคุณยาย ช่วยกลับไปแก้ข่าวให้หน่อยเถอะ”

“ยายก็ว่าตามที่เขาพูดกัน จริง ๆ ที่บ้านยังห้ามยายไว้ แต่ยายไม่ฟังเอง”

“ครับ กินเยอะ ๆ ไม่ต้องกลัว”

“ไม่กลัวหรอกจ้ะ พ่อหนุ่ม ยายแก่แล้ว ถ้าจะกินแล้วตายก็ไม่เป็นไรหรอก จริงไหมล่ะ”

ผมอยากยกมือกุมขมับ นึกเคืองชาวบ้านที่ไม่รู้จักแยกแยะว่าอะไรถูกอะไรผิดจนเป็นนิสัย

กำลังคิดจะโทรศัพท์ไปรายงานให้คุณพ่อทราบ พอดีหันไปเห็นรถตู้แล่นมาจอดหน้าร้านหลายคัน นึกดีใจว่ายังมีลูกค้ารายอื่นเข้ามารับประทานอาหารอย่างต่อเนื่อง ทว่าพอเห็นการแต่งกายพร้อมท่าทีของคนที่ก้าวลงมาจากรถแล้ว ผมได้แต่อุทานว่า “เวรแล้วมั้ยล่ะ คุณพ่อ”

คนกลุ่มนั้นแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานสาธารณสุข และขอความร่วมมือในการตรวจสอบวัตถุดิบ ตลอดจนขั้นตอนการผลิตอาหาร เนื่องจากทราบข่าวมาว่ามีลูกค้าเข้ามากินอาหารที่นี่ แล้วเกิดอาเจียนอย่างรุนแรง จึงสงสัยว่าน่าจะเนื่องมาจากอาหารเป็นพิษ

ผมพูดไม่ออกบอกไม่ถูก ต้องปล่อยให้คนเหล่านั้นเข้าไปตรวจดูตามสบาย

หลังจากเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารไปแล้ว ได้แจ้งให้ผมทราบว่า

“ดูจากสภาพทั่วไปของร้านก็สะอาดถูกต้องตามสุขลักษณะดี จึงยังไม่ต้องหยุดดำเนินการ ขอให้รอผลการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศก่อน ส่วนจะเป็นประเทศไหนนั้น คงต้องรอให้ผู้ใหญ่แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเสียก่อน”

ผมยิ้มกร่อย ๆ คิดในใจว่าถึงขั้นนี้แล้วจะมีใครกล้าเข้ามากินอีก ชาวบ้านที่มามุงดูอยู่หน้าร้านคงจะเป็นหน่วยประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ได้เป็นอย่างดี ผมจึงสั่งให้พนักงานทุกคนเก็บข้าวของและปิดร้านกลับไปพักผ่อนกันก่อน สำหรับอาหารในถาดหรือในหม้อในไหให้นำกลับไปกินที่บ้านได้ ถ้าไม่มีใครกินก็เททิ้งลงในถังขยะ

ครั้นปิดร้านเรียบร้อยแล้ว ผมจึงเดินอย่างไร้อารมณ์ไปที่ร้านรับฝากรถแถวนั้น ระหว่างทางก็เห็นร้านอาหารแห่งหนึ่งมีคนเข้าไปอุดหนุนค่อนข้างคึกคัก จึงถือโอกาสแวะเข้าไปสังเกตการณ์ แต่นั่งเก้าอี้เบาะยังไม่ทันร้อน หูก็ได้ยินเสียงแว่วมาจากโต๊ะด้านหลัง

“นี่เธอ ดูเอาเถอะ ขนาดเจ้าของร้านยังไม่กล้ากินของตัวเองเลย ถ่อมากินถึงที่นี่ แล้วจะให้เราเป็นหนูลองยาไปกินได้ไง จริงมั้ย”

“อย่างว่าแหละเธอ นายทุนสมัยนี้เห็นแก่ผลกำไรเกินไป เอาของไม่ดีมาขาย คงเห็นว่าชาวบ้านโง่กันหมดล่ะมั้ง”

“ทีแรกฉันคิดอยู่แล้วเชียว มีอย่างที่ไหน ข้าวราดแกงสองอย่างราคาห้าบาท คงมีแต่คนสองจำพวกเท่านั้นแหละที่ทำขายได้ ถ้าไม่ใช่คนบ้าก็ต้องเป็นคนที่มีอะไรซ่อนเร้นอยู่”

“แต่ฉันลองไปเหล่ดูแล้วนะ ของเขาก็ดูน่ากินเหมือนกัน บางทีอาจเป็นพวกทำธุรกิจเพื่อฟอกเงินสกปรกก็เป็นได้”

ผมได้ยินแล้วรู้สึกอ่อนใจ รีบลุกเดินออกจากร้าน ท่ามกลางสายตาของใครต่อใครที่มองมาอย่างหมิ่นแคลน อย่างไรก็ตาม ยังพอทันได้เห็นป้ายบอกราคาของร้านนี้ระบุไว้ว่า “หนึ่งอย่างสิบห้า สองอย่างยี่สิบ” นี่คือราคาสำหรับผัดผักเหี่ยว ๆ และแกงที่น้ำใสยังกับน้ำล้างจาน ตามที่คุณพ่อเคยพูดไว้

“เราจะทำยังไงต่อไปดีครับ” ผมอยากถามคุณพ่อเหลือเกิน

เรื่องราวเหล่านี้ผ่านไปนานจนผมเกือบจะลืมอยู่แล้วเชียว ผมเองก็ไม่ได้เจอหน้าคุณพ่ออีกเลยนับแต่วันนั้น สงสารท่านจนไม่อยากเห็นสีหน้าผิดหวังซึ่งผมเข้าใจอย่างที่สุด แต่แล้ววันหนึ่งผมมีธุระต้องขับรถผ่านไปละแวกนั้น จึงได้เห็นผู้คนพากันยืนอออยู่หน้าร้านอาหารของคุณพ่อ มันเกิดอะไรขึ้นอีกหรือ เพราะเท่าที่ผมรู้มา ร้านข้าวแกงของคุณพ่อปิดตัวไปแล้ว หลังจากเปิดขายได้ไม่นาน

ผมรีบจอดรถหน้าร้านที่ตอนนี้ติดเครื่องปรับอากาศและตกแต่งหน้าร้านเสียหรูหรา ทว่าสิ่งหนึ่งที่ผมยังจำได้ไม่ลืมว่าเป็นของเก่าก็คือป้ายบอกราคาอาหารหน้าร้าน มันยังคงบอกราคา “สองอย่างห้า” อยู่เหมือนเดิม เพียงแต่บัดนี้มีคำว่า “สิบ” ต่อท้ายเข้ามาเท่านั้น

ฟ้าคงลิขิตให้คุณพ่อค้าขายขาดทุนไม่เป็น ผมคิด ก่อนจะขับรถจากมาด้วยหัวใจวังเวง.


หมายเหตุ พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารบางกอก   สองตอนจบ   เดือนธันวาคม   พ.ศ. 2547   และเดือนมกราคม   พ.ศ. 2548

มุมเรื่องสั้นไทย-สองอย่างห้า-โดย-ธาร-ยุทธชัยบดินทร์
มุมเรื่องสั้นไทย-สองอย่างห้า-โดย-ธาร-ยุทธชัยบดินทร์

กลับหน้าแรก