เรื่องสั้นไทย “อัจฉริยะต้นแบบ” : ธาร ยุทธชัยบดินทร์

เรื่องสั้นไทย อัจฉริยะต้นแบบ โดย ธาร ยุทธชัยบดินทร์

มุมเรื่องสั้นไทย

ณ กระท่อมหลังหนึ่งในชนบท ท่ามกลางเสียงหรีดหริ่งเรไรขับขานบทเพลงกลางคืน ผมยังคงนอนไม่หลับ คนแก่ก็มักเป็นเช่นนี้ ได้แต่ครุ่นคิดถึงอดีตอยู่เสมอ อดีตซึ่งย้อนเวลากลับไปแก้ไขไม่ได้ ผิดกับเจ้าลูกสาววัยสามสิบปีที่กำลังนอนหลับปุ๋ยอย่างมีความสุขอยู่ใกล้ ๆ

ผมเฝ้าสงสัยว่าวิญญาณของพ่อบนสวรรค์จะคิดอย่างไรกับชีวิตของผม หากสักวันหนึ่งผมเจอท่านก็คงได้ถามกันให้สิ้นสงสัย แต่จะมีโอกาสดี ๆ เช่นนั้นล่ะหรือ ด้วยบ่อยครั้งที่ผมเชื่อว่า หากชีวิตหลังความตายมีจริง นรกน่าจะยินดีต้อนรับผมมากกว่าสวรรค์เป็นแน่

สมัยก่อนนักวิทยาศาสตร์อย่างผมไม่เคยเชื่อเรื่องนรกสวรรค์เอาเสียเลยเพราะมันพิสูจน์ไม่ได้ ผมชอบอะไรที่สามารถสังเกตการณ์ได้ด้วยสายตาตัวเองมากกว่า

ตอนที่ผมยังเป็นเด็กอายุประมาณสักเจ็ดขวบ บ่ายวันหนึ่งฝนตก ผมจึงออกไปเล่นน้ำฝนกลางแจ้ง ขณะกำลังสนุกกับฝนเม็ดโต ๆ ที่เทลงมาจากท้องฟ้าอยู่นั่นเอง ผมก็ได้เห็นกบตัวหนึ่ง มันโตและอวบใหญ่มาก ผมรีบคว้ามันติดมือกลับเข้าบ้านทันที สิ่งแรกที่ผมต้องการในเวลานั้นก็คือมีดคม ๆ กับเขียง

ถึงตรงนี้ถ้ามีใครคิดว่าผมกำลังทำอาหาร เขาก็กำลังเข้าใจผิดอย่างน่าขัน เปล่าเลย ตอนนั้นผมยังทอดไข่เจียวไม่เป็นด้วยซ้ำ แต่ผมเริ่มอยากรู้อยากเห็นว่า เจ้าสัตว์น้อยหน้าตาประหลาดมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร สิ่งที่อยู่ข้างในใต้ผิวหนังของมันแตกต่างหรือว่าเหมือนกับหุ่นยนต์ไฟฟ้าของเล่นที่พ่อเคยซื้อให้

ผมจึงใช้มีดโกนหนวดของพ่อกรีดท้องของมันอย่างประณีตบรรจง และงัดเอาเครื่องในออกมาสำรวจทีละชิ้นสองชิ้น แม้จะรู้สึกสะอิดสะเอียนกับกลิ่นคาวเลือดอยู่บ้าง ทว่ามันก็เป็นปฏิบัติการที่ทำให้ผมตื่นเต้นมากที่สุดนับแต่จำความได้

ขณะกำลังเพลิดเพลินอยู่กับซากกบที่น่าสงสารอยู่นั้น แม่ผ่านมาเห็นเข้าจึงกรีดร้องลั่นบ้านราวกับเห็นงูเลื้อยผ่านหน้า พ่อรีบวิ่งมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อรู้สาเหตุก็หัวเราะพลางบอกแม่ว่า “ลูกเรากำลังจะเป็นนักวิทยาศาสตร์”

ผมจำได้ฝังใจกับคำพูดของพ่อ ผมจึงมักจะอ้อนวอนขอให้พ่อเล่าเรื่องเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์ท่านต่าง ๆ ด้วยความอยากรู้ว่าพวกเขาเป็นใคร ทำอะไร ที่ไหน ทำทำไม และทำอย่างไร ซึ่งพ่อไม่เคยเบื่อที่จะเล่าเลย มิหนำซ้ำยังหาซื้อหนังสือชีวประวัตินักวิทยาศาสตร์เอกของโลกมาให้ผมอีกนับไม่ถ้วน

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาผมจึงสนใจวิชาวิทยาศาสตร์มากเป็นพิเศษจนสามารถทำคะแนนได้ดีเลิศ บรรดาครูบาอาจารย์ทุกคนที่สอนวิทยาศาสตร์ให้ผมตั้งแต่ชั้นประถมถึงชั้นมัธยมต่างรักและเอ็นดูผม ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่า “เธอจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่”

ผมเชื่อคำพูดนั้น ในเวลาต่อมาจึงเลือกที่จะศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ก่อนจะได้รับทุนไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา จนกระทั่งจบปริญญาโทและเอกในสาขาชีววิทยา

“ชีววิทยาจะกลายเป็นศาสตร์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้” ผมประกาศต่อหน้าพวกฝรั่งผมทองทุกคนในวันรับปริญญา “ชีววิทยาจะต้องเหนือกว่าฟิสิกส์และเคมี โปรดรอชื่นชมและปรบมือให้แก่ผมได้ในช่วงชีวิตของทุกท่าน”

เพื่อนฝูงพากันคาดว่าผมน่าจะเป็นนักชีววิทยาคนต่อไปที่ได้รับรางวัลโนเบลจากโครงการที่ผมกำลังทำวิจัยอยู่ ซึ่งหากสำเร็จตามวัตถุประสงค์จะสามารถทำให้อารยธรรมของโลกก้าวกระโดด ถึงขั้นจินตนาการไม่ออกและฝันไม่ถึงเลยทีเดียว

โครงการที่ว่าก็คือการพัฒนาประสิทธิภาพและศักยภาพสมองของมนุษย์ จากการวิจัย ผมได้พบความจริงว่ามนุษย์เราใช้พลังสมองไปแค่สิบเปอร์เซ็นต์ของความสามารถที่มีอยู่เท่านั้น เทียบได้กับการขับรถแข่งสูตรหนึ่งด้วยความเร็วเพียง 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ผมเฝ้าแต่คิดว่าสักวันหนึ่งมนุษย์รุ่นต่อไปทุกคนจะต้องเป็นอัจฉริยะและเก่งกว่าผมเป็นร้อย ๆ เท่า ขอเพียงผมวิจัยและทดลองได้เป็นผลสำเร็จเท่านั้น

ในเวลาต่อมา ชื่อเสียงของผมเริ่มโด่งดังในหมู่นักวิชาการ ทำให้ผมได้มีโอกาสพบกับนักศึกษาหญิงระดับปริญญาโทด้านชีววิทยาคนหนึ่ง เธอเป็นคนไทยเหมือนผม จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ให้งอกงามจนกลายเป็นความรัก หรืออาจจะเป็นเพราะความว้าเหว่ที่เกิดจากการใช้ชีวิตในต่างแดนก็เป็นไปได้ ข้อนี้ผมไม่แน่ใจนัก แต่ในที่สุดผมกับเธอก็แต่งงานกันอย่างเรียบง่าย

จนกระทั่งเธอเรียนจบ แล้วพบว่าตัวเองตั้งท้องได้สองเดือน มันจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมชักชวนเธอกลับเมืองไทย โดยอ้างกับเธอว่า ผมอยากให้ลูกได้ใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนที่มีความสุขมากที่สุด

โชคดีที่ทุกสิ่งทุกอย่างค่อนข้างง่ายสำหรับคนที่จบปริญญาเอกและปริญญาโททางชีววิทยาอย่างผมกับภรรยา เราได้งานสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่ง พร้อมกับเงินทุนสำหรับการวิจัยโครงการของผม

ดังนั้นเมื่อกลับถึงเมืองไทย ผมจึงแทบจะไม่ยอมเสียเวลาไปกับการเยี่ยมเยียนญาติมิตรเลยแม้แต่วินาทีเดียว ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ศึกษาทดลองอยู่แต่ในห้องแล็ป ผู้ช่วยและนักศึกษาทุกคนที่ทำงานร่วมกันต่างพากันสงสัยว่า ทำไมผมถึงได้มีพลังในการทำงานมากมายถึงเพียงนี้

“ผมกำลังเตรียมของขวัญวันเกิดให้แก่ลูกที่กำลังคลอดออกมาดูโลก…ลูกรักของผม” ผมมักจะตอบไปในทำนองนี้

ขณะนั้นการทดลองดำเนินไปอย่างน่าพอใจ ด้วยเทคโนโลยีระดับนาโน ผมและทีมงานสามารถนำโมเลกุลทางชีวภาพเอ็กซ์ 1 กับเอ็กซ์ 2 เข้าไปฝังตัวอยู่ในเซลส์สมองทุกเซลส์ของหนูทดลองได้เป็นผลสำเร็จ

ข่าวความสำเร็จนี้กระจายไปทั่วโลก เมื่อผมแสดงให้เห็นว่า หนูทดลองสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้โดยใช้ตรรกะแทนสัญชาตญาณ และยังสามารถนำประสบการณ์นั้นส่งต่อให้แก่หนูตัวอื่น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง

“หนูของผมคือหนูอัจฉริยะ” 

นี่คือหัวข้อข่าวที่ชาวโลกพากันพูดถึง

ในเวลาต่อมา ผมสามารถทำให้ลิงทดลองหลายตัวใช้ภาษามือสื่อสารได้สำเร็จ ในระดับเดียวกันกับเด็กอายุสิบขวบที่หูหนวกและเป็นใบ้ ชาวโลกจึงมีโอกาสได้รับรู้ว่าลิงคิดอะไร ขณะเดียวกันลิงก็รับรู้เช่นกันว่ามนุษย์นั้นเป็นคนอย่างไร 

ใคร ๆ ต่างบอกว่านี่คือของขวัญวันเกิดลูกสาวที่ยอดเยี่ยมที่สุด เวลานั้นลูกของผมอยู่ในท้องแม่ได้ราวแปดเดือนแล้ว

แต่ผมกลับคิดว่าความสำเร็จเพียงเท่านี้ยังเล็กน้อยเกินไปสำหรับลูกของนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ แน่นอน ผมมีสิ่งที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่านั้นสำหรับลูกรักของผม

“ที่รักจ๊ะ คุณคิดอย่างไร ถ้าผมจะทำให้ลูกของเราเป็นอัจฉริยะหมายเลขหนึ่งของโลก จากการทดลองในสัตว์ที่ผ่านมา ทำให้ผมประเมินได้ว่า หากลูกของเราเข้าร่วมโครงการวิจัย แกจะมีความเป็นเลิศกว่าอัจฉริยะคนอื่นราวสิบถึงสิบห้าเท่าเลยทีเดียว”

ภรรยารักและศรัทธาในความสามารถของผมจนไม่อาจขัดขวางความคิดนี้ได้ แม้ว่าสัญชาตญาณของความเป็นแม่จะทำให้เธออยากปฏิเสธก็ตาม ผมรู้ดี เพราะเธอเคยบ่นตามประสาผู้หญิงว่า ผมกำลังเข้าไปยุ่งกับธรรมชาติมากจนเกินไป

ในที่สุดการทดลองก็ผ่านไปได้ด้วยดี แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องเป็นความลับ เพื่อไม่ให้ชาวโลกมีปฏิกิริยากับโครงการวิจัยของผมในแง่ลบ หรือถูกโจมตีในแง่มุมของศีลธรรม เนื่องจากมันเป็นการทดลองกับมนุษย์เป็นครั้งแรก แต่ไม่นานนักหรอก ผมบอกกับตัวเองเสมอ ชาวโลกและนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายจะต้องตกตะลึง จากนั้นก็จะชื่นชมในความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของผมอย่างล้มหลาม

ผมแทบจะรอคอยวันที่ลูกออกมาดูโลกไม่ไหว ใจเร่งเวลาให้แกออกมาเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้โดยเร็ว ลูกของผมต้องเป็นอัจฉริยะต้นแบบให้พ่อแม่คู่อื่น ๆ พวกเขาเหล่านั้นจะยอมรับในผลงานอันสุดแสนวิเศษ และยินดีเข้าร่วมโครงการของผม 

โดยส่วนตัวแล้วผมไม่สนใจเรื่องเงินทอง สิ่งเดียวที่ผมต้องการก็คือ ทำให้สมองมนุษย์ใช้งานได้เต็มกำลังความสามารถที่ธรรมชาติให้มา โลกจะต้องมีแต่อัจฉริยะ แล้วเมื่อถึงเวลานั้น หากมนุษย์ร่วมใจกันพัฒนาโครงการอื่น ๆ ต่อไป เช่น โครงการอวกาศ ผมก็แน่ใจอย่างยิ่งว่ามันย่อมเป็นเรื่องง่ายเหมือนพลิกฝ่ามือ ในการเผยแพร่เผ่าพันธุ์มนุษย์ไปทั่วจักรวาล โอ้ ผมอยากให้ถึงวันนั้นโดยเร็วเหลือเกิน ผมคิดในตอนนั้น

และแล้ววันที่ผมไม่อาจลืมก็มาถึงจนได้ ลูกของผมคลอดออกมาเป็นผู้หญิง ร่างกายแข็งแรง ทว่าดูท่าทางเหมือนเด็กทั่วไปจนผมรู้สึกผิดหวัง ได้แต่สงสัยว่ามีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้น ผมรื้อเอกสารการทดลองจำนวนหลายพันหน้าออกมาอ่านทบทวนหลายสิบรอบ แต่ไม่พบความผิดปกติอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างที่มันควรจะเป็น

จนกระทั่งหนึ่งสัปดาห์ผ่านไป

“แม่ แม่…”

“นี่คุณ ลูกเรียก…” ผมบอกภรรยาโดยไม่เงยหน้าขึ้นจากสมุดบันทึกการทำงาน แต่พอนึกอะไรขึ้นมาได้ก็ลุกพรวดขึ้นโดยเร็ว จนเก้าอี้หงายหลังล้มดังโครม ผมรีบโผเข้าไปหาลูกสาวที่นอนแบเบาะอยู่ในเปล

“ลูกพ่อ ไหนลองพูดอีกทีซิ นะจ๊ะ ช่วยพูดหน่อยเถอะ พูดอะไรก็ได้”

ผมเห็นลูกสาวยิ้มอย่างอารมณ์ดี

“พ่อ…พ่อ…”

“ไชโย ลูกเรียกพ่อได้แล้ว”

ภรรยาผมเข้ามาอุ้มลูกขึ้นมากอดอย่างรักใคร่ พร้อมกับหันมาสบตาด้วยความศรัทธาในความสามารถของผมจนหมดหัวใจ

“แม่…หิว…นม…”

ผมรีบไปจดบันทึกการพัฒนาการของลูกวัยเจ็ดวันไว้ ขณะเดียวกันภรรยาของผมก็รีบชงนมทันที ผมแอบเห็นภรรยาหลั่งน้ำตาด้วยความดีใจ ส่วนผมเองนั้นแทบจะกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่เหมือนกัน

ในที่สุดผมก็ทำได้สำเร็จ ผมบอกตัวเอง ลูกของผมกลายเป็นอัจฉริยะต้นแบบคนแรก โลกมนุษย์ได้เดินทางมาถึงยุคที่ชีววิทยาเจริญถึงขีดสุด มนุษย์อัจฉริยะจะครอบครองโลกนี้ แล้วนำโลกของเราก้าวเข้าสู่ยุคยูโทเปียหรือยุคพระศรีอาริย์ในไม่ช้า

ผมคิดถึงอดีตจนเผลอหลับไปตอนไหนไม่รู้สึกตัวเลย มาสะดุ้งตื่นอีกครั้ง เมื่อลูกสาววัยสามสิบปีส่งเสียงร้องเรียกเสียงดังลั่นห้อง

“แม่…แม่…หิว…นม”

“บอกกี่ครั้งกี่หนแล้วไม่รู้จักจำ” ผมพูดออกไปด้วยอารมณ์โมโห “แม่แกน่ะใจดำ ผูกคอตายหนีเราสองคนไปอย่างง่าย ๆ ตั้งแต่แกอายุได้ห้าขวบแล้ว”

ลูกสาวผมหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ไม่ได้มีท่าทีโกรธเคือง

“พ่อ…หิว…นม”

ผมค่อย ๆ ขยับตัวลุกขึ้นอย่างยากเย็น หลายปีมานี้รู้สึกไขข้อจะทรุดโทรมไปมาก แต่ต่อมน้ำตายังคงทำงานได้เป็นปกติดี

ผมชงนมให้ลูก แล้วน้ำตาก็ไหลออกมาเงียบ ๆ เหมือนเช่นทุกครั้ง.


หมายเหตุ  ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือขายหัวเราะ   เดือนพฤศจิกายน   พ.ศ.  2548