อัมพาตหน้าครึ่งซีก หรือโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s palsy) คืออะไร

อัมพาตหน้าครึ่งซีก โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell's palsy)

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกหรืออาการอัมพาตหน้าครึ่งซีกคือ ภาวะที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล่าวได้ว่าเป็นการเกิดอัมพาตชั่วขณะ สาเหตุสำคัญมาจากเส้นประสาทบนใบหน้าหรือเส้นประสาทสมอง (Cranial Nerve) คู่ที่ 7 ที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้าเกิดความผิดปกติ จากการติดเชื้อไวรัส เช่น เชื้อเริม (Herpes simplex virus) งูสวัด (Herpes zoster) ซึ่งเชื้อไวรัสพวกนี้จะแฝงตัวอยู่ในปมประสาท ยามใดที่ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำลงก็จะทำให้เกิดโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม โรคหน้าเบี้ยวกับโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตนั้นเป็นคนละโรคกัน โดยโรคหน้าเบี้ยวจะเกิดความผิดปกติขึ้นที่เส้นประสาท แต่โรคอัมพฤกษ์ และอัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมอง จะเกิดความผิดปกติขึ้นที่เนื้อสมอง แม้จะมีอาการหน้าเบี้ยวเหมือนกัน แต่โรคหลอดเลือดสมองจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น แขนและขาอ่อนแรง มีอาการชาตามแขน เป็นต้น

จากกรณีนักร้องดังป่วยเป็นโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกเมื่อไม่นานมานี้ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้ให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ว่า โรคดังกล่าวคล้ายกับโรคเส้นประสาทใบหน้าหรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 อักเสบ (Bell’s palsy) คือ ภาวะที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเกิดอัมพาตชั่วขณะ สามารถพบได้ทุกช่วงอายุ เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาท เตือนว่าหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์โดยด่วน อย่านิ่งเฉย หรือรักษากันเอง

อาการและสาเหตุของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

สาเหตุของโรคมาจากเส้นประสาทบนใบหน้าที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้าเกิดความผิดปกติ ส่งผลให้ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก มักจะเป็นข้างเดียว ทำให้หลับตาไม่สนิท มุมปากขยับได้น้อยลง ไม่สามารถดูดน้ำจากหลอด เพราะน้ำจะรั่วที่มุมปาก ผู้ป่วยบางคนจะมีอาการเลิกคิ้วหรือยักคิ้วไม่ได้ การรับรสที่ปลายลิ้นเปลี่ยนไป มีความผิดปกติเกิดขึ้น น้ำลายแห้ง น้ำตาแห้ง การได้ยินของหูข้างที่มีจะอาการลดประสิทธิภาพลง บางครั้งได้ยินเสียงก้อง อาจมีอาการปวดบริเวณหลังใบหูร่วมด้วย เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น โรคอีสุกอีไส, เชื้อเริม, งูสวัด ที่แฝงอยู่ในปมประสาท หากร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำลงจะทำให้เกิดโรคนี้ได้

แนวทางการรักษาหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกเป็นโรคที่สามารถค่อย ๆ ฟื้นตัวและดีขึ้นเองได้ โดยแพทย์จะวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ และการตรวจร่างกายเป็นสำคัญ ร่วมกับการตรวจการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ (NCS, EMG)

การรักษาโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกจะรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค เช่น ให้ยาฆ่าเชื้อไวรัส กรณีที่มีการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเริม หรืองูสวัดร่วมด้วย หรือการให้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการอักเสบในรายที่ไม่มีการติดเชื้อ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดใบหน้า เช่น การบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า การกระตุ้นเส้นประสาทด้วยกระแสไฟฟ้า หรือนวดใบหน้า ซึ่งจะช่วยลดภาวะกล้ามเนื้อตึงเกร็ง และอาจใช้การผ่าตัดในผู้ป่วยบางรายตามความเหมาะสม

ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกควรปิดตาข้างที่มีอาการ หรือสวมใส่แว่นกันแดด ร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม และควรปิดตาเวลานอน เพื่อลดอาการเคืองตา ตาแดง หรือมีแผลที่แก้วตา อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ป่วยมีอาการใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการ เพราะผลของการรักษาจะได้ผลดี ถ้าได้เริ่มรักษาได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

อัมพาตหน้าครึ่งซีก โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell's palsy)
อัมพาตหน้าครึ่งซีก โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s palsy)

เว็บไซต์ nittayasan.com