ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ข้อดีของการทำประกันชีวิตคืออะไร
ข้อดีของการทำประกันชีวิต
- ช่วยสร้างคามมั่นใจ ความมั่นคง และสร้างความคุ้มครองทางการเงินให้กับครอบครัวของคุณและตัวคุณเอง รวมถึงสังคมอีกด้วย เพราะจะไม่เป็นภาระให้ใครในวันที่เกิดเรื่องร้าย ๆ ขึ้นมาในชีวิต นี่คือการลงทุนเพื่อความไม่ประมาท เพราะชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน
- ถือเป็นการสร้างวินัยทางการเงิน เพราะช่วยออมทรัพย์อย่างเป็นระบบ คุณจะมีเงินเก็บไว้ใช่ในวันข้างหน้า
- นำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้สบาย ๆ ลดสูงสุดได้ถึง 1 แสนบาทกันเลยทีเดียว อันนี้สำหรับประกันชีวิตแบบทั่วไปนะคะ ถ้าประกันชีวิตแบบบำนาญจะลดหย่อนได้ถึง 2 แสนบาทเลยทีเดียว รู้อย่างนี้แล้วอย่ารอช้า
- รู้ไหมว่า ประกันชีวิตควบการลงทุนนั้น จะมีเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนในกองทุนรวมด้วย ทำให้เงินเก็บเงินออมของคุณได้มีโอกาสเติบโตมากยิ่งขึ้น
แล้วประกันชีวิตมีกี่ประเภท?
ตอบง่าย ๆ ว่า ประกันชีวิตพื้นฐาน มี 4 แบบ ดังต่อไปนี้
1. ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา หรือ Term Insurance
ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา หรือ Term Insurance เป็นประกันที่เน้นในเรื่องของความคุ้มครองชีวิตเป็นหลัก ไม่มีเงินสะสม สามารถเลือกระยะเวลาความคุ้มครอง และระยะเวลาการชำระเบี้ยได้ตามความเหมาะสมกับภาระทางการเงิน คนที่เราต้องดูแล หรือภาระนี้สินที่เรามีอยู่ได้ ข้อดีคือ สามารถเรียกความคุ้มครองที่สูงได้โดยใช้ค่าเบี้ยที่ถูก แต่ก็แลกมาด้วยข้อเสียคือการไม่มีเงินสะสมและเมื่อครบกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ความคุ้มครองก็จะหมดลงไป ประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองในช่วงระยะเวลาจำกัด เช่น 1 ปี, 5 ปี, 10 ปี เป็นต้น หากเลือกประกันชีวิตแบบนี้บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้กับผู้รับประโยชน์เมื่อเราเสียชีวิตในระยะเวลาที่กำหนด แต่หากเรายังมีชีวิตอยู่จนครบระยะเวลานั้น ก็จะไม่ได้รับเงินทุนประกันชีวิตคืน
เหมาะสำหรับใคร? เหมาะกับคนที่ต้องการความคุ้มครองชีวิตในระยะเวลาหนึ่ง คนที่มีความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัยต่ำ แต่ต้องการความคุ้มครองสูง คนที่ต้องการบริหารความเสี่ยงในระยะสั้นๆ
2. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ หรือ Whole Life
ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ หรือ Whole Life เป็นประกันที่เน้นความคุ้มครองชีวิตระยะยาว เช่น 90 – 99 ปี โดยสามารถชำระเบี้ยแค่ช่วงเวลาหนึ่ง เช่น 10 – 20 ปีได้ ซึ่งประกันในรูปแบบนี้จะเริ่มมีเงินสะสมหรือมูลค่ากรมธรรม์ แต่ก็ยังสามารถให้ความคุ้มครองที่สูงโดยที่ใช้เบี้ยต่ำ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวที่มีคนอยู่ในความดูแล นำมาวางแผนเป็นเครื่องมือคุ้มครองค่าความสามารถได้ หรือสามารถนำมาวางแผนในเรื่องของการส่งต่อมรดก หรือส่งต่อความมั่งคั่งให้กับคนในครอบครัวหรือคนที่เรารักได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งประกันรูปแบบนี้ยังมีมูลค่าสะสมหรือมูลค่ากรมธรรม์จึงเป็นเงินสำรองอีกก้อนสำหรับใช้จ่ายในอนาคตได้ สรุปว่า หากเราเลือกประกันชีวิตแบบนี้ แล้วเรามีชีวิตอยู่ครบตามระยะเวลาที่กำหนดก็จะได้ทุนประกันชีวิตกลับคืน แต่หากเราเสียชีวิตในระยะเวลาที่คุ้มครอง ผู้รับผลประโยชน์ก็จะได้รับเงินทุนประกันชีวิตแทน
เหมาะสำหรับใคร? เหมาะกับคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัว หรือเป็นเสาหลักของบ้าน ไว้เป็นหลักประกันให้คนข้างหลัง คนที่ต้องการทำเป็นมรดกส่งต่อให้กับลูกหลาน
3. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือ Endowment
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือ Endowment แบบนี้จะเน้นการออมเงินเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนตามอัตราที่กำหนดไว้ รวมถึงได้รับความคุ้มครองชีวิตด้วย ที่สำคัญยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ นิยมนำมาวางแผนการออม เพราะไม่ต้องการความเสี่ยงจากการลงทุน เช่น การเก็บเงินและลดหย่อนภาษีในระยะกลางหรือระยะยาว การเก็บเงินไว้ให้บุตรหลานในอนาคต หากเกิดเหตุไม่คาดฝันกับผู้ทำประกัน เช่น เสียชีวิต พิการถาวร แม้ว่าคุณจะยังเก็บเงินไม่ได้ตามเป้าก็ตาม แตจะได้ทุนประกันมาให้กับคนในครอบครัว ประกันชีวิตที่เน้นการออมเงินเพื่อไว้ใช้ในอนาคต ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว เหล่านี้ เราจะได้เงินคืนพร้อมกับอัตราผลตอบแทนมากกว่าเบี้ยที่เราจ่าย ผลตอบแทนนี้จะเป็นผลตอบแทนแบบแน่นอน ตามที่บริษัทตกลงไว้ในสัญญา นอกจากนี้ยังได้รับความคุ้มครองชีวิตเหมือนประกันชีวิตแบบอื่นอีกด้วย
เหมาะสำหรับใคร? เหมาะกับคนที่ต้องการลงทุน แต่รับความเสี่ยงได้น้อย คนที่ต้องการเก็บออมเงินไว้ใช้ในอนาคต คนที่ต้องการความคุ้มครองควบคู่กับการออมเงิน
4. ประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือ Annuity
ประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือ Annuity เป็นประกันที่เน้นการออมเงินระยะยาว เพื่อไว้ใช้หลังเกษียณ และจะได้ผลประโยชน์ในเรื่องของการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมจากแบบประกันทั่วไปสูงถึง 200,000 บาท และสามารถสูงได้ถึง 300,000 บาท กรณีที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีจากประกันทั่วไป 100,000 บาทแรก จึงเหมาะสำหรับผู้ต้องการมีรายได้ที่แน่นอนหลังเกษียณ และต้องการได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม นี่คือประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้แก่เราเมื่อเกษียณอายุ หรือมีอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี เป็นต้นไป หากว่าคุณเลือกประกันชีวิตแบบนี้ คุณต้องจ่ายเบี้ยไปจนถึงอายุที่กำหนด แล้วหลังจากนั้นก็จะได้รับเงินไปเรื่อย ๆ จนครบกำหนดอายุตามที่เลือก ซึ่งผลตอบแทนที่ได้อาจจะไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับแบบสะสมทรัพย์ แต่คุณจะได้รับความคุ้มครองชีวิตเหมือนประกันชีวิตแบบอื่น เช่น ถ้าเสียชีวิตในช่วงก่อนเกษียณ ผู้รับประโยชน์ก็จะได้รับเงินตามทุนประกันชีวิตที่คุณเลือกไว้ แต่ถ้าเราเสียชีวิตหลังเกษียณก็จะได้ทั้งเงินบำนาญ และผลประโยชน์ตามทุนประกันชีวิต
เหมาะสำหรับใคร? เหมาะกับคนที่ต้องการวางแผนเกษียณ คนที่อยากมีรายได้ที่แน่นอนหลังเกษียณ
ประกันชีวิตพิเศษ
1. แบบประกันควบการลงทุน (Unit Linked)
แบบนี้เป็นประกันที่มีส่วนผสมของการประกันความเสี่ยง และการลงทุนไปในตัว จัดว่ายืดหยุ่นสูง ให้อิสระในการวางแผนวงเงินความคุ้มครอง ค่าเบี้ยที่ชำระ ระยะเวลาในการชำระเบี้ย และระยะเวลาในการให้ความคุ้มครอง ถือว่าตอบโจทย์คนรุ่นไหมที่ต้องการวางแผนการเงินอย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องการบริหารความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่าประกันแบบทั่วไป
2. แบบประกันชีวิตผู้สูงอายุ
แบบนี้จะเป็นประกันแบบพิเศษ ให้ความคุ้มครองชีวิตแก่ผู้สูงอายุ เริ่มสมัครได้อายุ 50 – 70 ปี มีจุดเด่นในเรื่องของการสมัครทำได้โดยไม่ต้องตรวจหรือตอบคำถามสุขภาพ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่อาจมีประวัติโรคประจำตัวหรือสุขภาพไม่แข็งแรง เพื่อสร้างความคุ้มครองชีวิตหรือสร้างมรดกให้ลูกหลาน สรุปว่า เรื่องการทำประกันชีวิต หลายคนอาจจะมองว่าซื้อเพื่อลดหย่อนภาษี หรือเป็นเรื่องของคนมีครอบครัวเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วมีรายละเอียดและประโยชน์มากกว่านั้น
ช่วงวัยต่าง ๆ ที่เหมาะแก่การทำประกันชีวิต
1. ช่วงวัยเด็กถึงวัยรุ่น (0-20 ปี)
ช่วงวัยเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นช่วงที่ภูมิต้านทานโรคต่ำ มีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่าย พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรพิจารณาทำประกันสุขภาพให้เด็ก เพื่อแบ่งเบาค่ารักษาพยาบาลเวลาเจ็บป่วย ถ้าโตขึ้นมาจนถึงช่วงวัยรุ่น ก็ทำประกันอุบัติเหตุเพิ่มเติม เพราะวัยรุ่นอาจชอบทำอะไรเสี่ยง ๆ มากกว่าปกติ
2. ช่วงวัยทำงานตอนต้น (21-30 ปี)
ช่วงเริ่มต้นของวัยทำงาน เป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มมีรายได้ จึงควรให้ความสำคัญกับการออมเป็นหลัก รวมถึงเมื่อเริ่มมีรายได้ ก็อาจจะเริ่มมีการเสียภาษี ช่วงวัยนี้จึงเหมาะกับการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เพื่อสร้างวินัยในการออม รวมถึงได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีด้วย และหากคุณทำงานเก็บเงินไปได้ซักระยะ ควรพิจารณาการทำประกันชีวิตที่ได้ความคุ้มครองระยะยาวเพิ่มเติมด้วย เช่นแบบตลอดชีพ เพื่อนำไปผูกไว้กับประกันสุขภาพ เพราะช่วงวัยนี้ค่าเบี้ยประกันชีวิตจะถูกกว่าช่วงวัยอื่น ทำให้เราได้ประกันชีวิตที่คุ้มค่า แถมจ่ายเบี้ยราคาเดิมนี้ไปตลอดอายุของสัญญา และต้องไม่ลืมว่า การที่เรานำประกันสุขภาพไปผูกกับแบบประกันที่ให้ความคุ้มครองนาน ๆ นี้ จะส่งผลให้เราได้ประกันสุขภาพที่ผูกพันยาวนานตามไปด้วย ไม่ต้องมาคอยกังวลในวันที่ไม่มีสวัสดิการจากที่ทำงานมาช่วยเรื่องค่ารักษาพยาบาล และไม่ต้องกังวลด้วยว่า ถ้าเราเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาจะถูกยกเลิกประกันสุขภาพในปีต่อไปหรือไม่
3. ช่วงวัยทำงานตอนกลางและเริ่มสร้างครอบครัว (31-45 ปี)
การทำประกันสำหรับคนในช่วงนี้ แนะนำให้ทำประกันชีวิตแบบเน้นความคุ้มครองชีวิต เพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่หัวหน้าครอบครัวเกิดเสียชีวิตไปอย่างกระทันหัน ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิตแบบตลอดชีพ หรือประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา โดยควรเลือกช่วงเวลาคุ้มครองให้เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของเรา หรือจะซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติมด้วยก็ได้ โดยการซื้อประกันสุขภาพควรผูกไว้กับแบบประกันที่คุ้มครองเราไปจนแก่เฒ่าเพื่อให้ประกันสุขภาพมีผลต่อเนื่องคุ้มครองยาวนานตามไปด้วยนั่นเอง
4. ช่วงวัยทำงานตอนปลายจนถึงเวลาเกษียณ (46-60 ปี)
ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ภาระเลี้ยงดูครอบครัวจะค่อย ๆ ลดลง เรื่องสำคัญที่จะเข้ามาแทนจึงกลายเป็นเรื่องการเตรียมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณ ช่วงอายุตอนต้นของช่วงเวลานี้ จึงเป็นช่วงอายุสำคัญช่วงสุดท้ายในการเตรียมเงินเพื่อวัยเกษียณ ประกันที่เหมาะสมกับช่วงวัยนี้จึงควรเป็นประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อสร้างเงินบำนาญหลังเกษียณที่เป็นเงินการันตี ไว้ใช้ส่วนหนึ่ง ควบคู่กับเงินออมเงินลงทุนในเครื่องมืออื่นๆ เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีเงินไว้ใช้หลังเกษียณอย่างเพียงพอ
5. ช่วงหลังเกษียณ (61 ปี เป็นต้นไป)
ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต หลายคนอาจจะทำพินัยกรรม หรือเตรียมทรัพย์สินส่งมอบให้ลูกหลาน ซึ่งก็สามารถใช้ประกันชีวิตเป็นเครื่องมือในการสร้างเงินมรดกให้ลูกหลานได้เช่นกัน หรือใช้บริหารภาษีมรดก สำหรับคนที่มีทรัพย์สินจำนวนมาก (เกิน 100 ล้านบาท) โดยประกันชีวิตที่เหมาะสมในการสร้างเงินมรดกคือประกันชีวิตที่เน้นการคุ้มครองชีวิตแบบประกันชีวิตแบบตลอดชีพ แต่สำหรับใครที่อยากจะสร้างเงินมรดกให้ลูกหลาน แต่อาจจะมีสุขภาพไม่สมบูรณ์แข็งแรงปกติ หรือมีโรคประจำตัว ทำให้ไม่สามารถทำประกันชีวิตแบบทั่วไปได้ ก็อาจจะพิจารณาทำประกันชีวิตผู้สูงอายุทดแทนได้ เพราะไม่จำเป็นต้องตรวจหรือต้องตอบคำถามสุขภาพ ทำให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวก็สามารถทำประกันชีวิตได้ กรณีเสียชีวิตจากโรค บริษัทประกันจะจ่ายทุนประกันให้ผู้รับผลประโยชน์ก็ต่อเมื่อกรมธรรม์นั้นทำมาเกิน 2 ปีแล้วเท่านั้น
เว็บไซต์ nittayasan.com