จากศึกษาหลายกรณีพบว่า การออกกำลัง ทุกครั้ง ไม่ว่าในร่มหรือกลางแจ้ง จะส่งผลต่อสุขภาพจิตของนักกีฬาหรือผู้ออกกำลังกายทั่วไป ในแง่ที่จิตใจจะได้ออกกำลังหรือได้ฝึกฝนไปด้วยนั่นเอง และนั่นย่อมมีประโยชน์อย่างมิต้องสงสัย แล้วประโยชน์ที่ว่านั้นคืออะไร เราลองมาหาคำตอบกันดีกว่า
ประโยชน์ของการออกกำลังกาย 5 ข้อ ที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตใจ
- ลดอาการภาวะซึมเศร้า เช่น เก็บตัว แยกตัวออกจากสังคม รู้สึกเศร้า ท้อแท้ และสิ้นหวัง รู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า รู้สึกผิดและโทษตัวเองตลอดเวลา
- ลดความวิตกกังวล เช่น มีความกลัดกลุ้ม หวาดกลัว เกี่ยวกับสถานการณ์ในชีวิตประจำวันมากเกินไป อาจมีหัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว เหงื่อออก รู้สึกเหนื่อย
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น พยายามทำให้พฤติกรรมแง่ลบลดน้อยลง พฤติกรรมแง่บวกเพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น
- เชื่อมต่อมากขึ้น โดดเดี่ยวเดียวดายน้อยลง เช่น เข้าสังคมได้ดีขึ้น มีสังคมที่เน้นคุณภาพ มีความสุขทางใจมากกว่าเดิม
- เสริมสร้างความรู้สึกเห็นคุณค่าในตัวเอง เช่น การรับรู้ว่าตัวเองมีคุณค่า มีศักยภาพและภูมิใจในตัวเอง ผู้ที่ตระหนักรู้คุณค่าในตัวเองจะมีแนวคิดและวิธีการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องเหมาะสม รักตัวเองเป็น กล้าที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ ๆ ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีความสามารถในการปรับตัวได้ดี รวมทั้งมองโลกในแง่ดี
กรณีศึกษาในเรื่องการออกกำลังกายมีผลต่อสุขภาพจิต
การฝึกโยคะ
ในปี 2018 มีการศึกษาและได้ตีพิมพ์ผลงานใน Complementary Therapies in Clinical Practice พบว่า การฝึกโยคะมีผลเกี่ยวกับร่างกาย ในแง่การทำงานของระบบต่าง ๆ ทั้งในด้านกลศาสตร์ ด้านกายภาพ และด้านชีวเคมี ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดความดันโลหิต การหายใจมีคุณภาพมากขึ้น แก้ไขปัญหาความเครียดได้ดีขึ้น ลดภาวะซึมเศร้า ลดความกังวล มีความสุขมากขึ้น
การรำมวยไท่เก๊ก
วิชามวยไท่เก๊ก หรือ ไท่เก๊กคุ้ง เมื่อเรียกชื่อภาษาจีนแต้จิ๋ว หากอ่านแบบภาษาจีนกลางว่า ไท่จี๋เฉวียน เป็นศิลปะการป้องกันตัวที่เน้นการทำสมาธิ การกำหนดลมหายใจ ร่วมกับการเคลื่อนไหวร่างกาย จากการศึกษาในแง่สุขภาพจิต พบว่า ช่วยเพิ่มสมาธิ ผ่อนคลายความเครียด พัฒนาอารมณ์ ช่วยให้หลับสบายหรือนอนหลับได้ง่ายขึ้น
ออกกำลังกายแบบแอโรบิก หรือ Aerobic Exercise
แอโรบิค คือ การทำให้ร่างกายต้องการใช้ออกซิเจน การออกกำลังกายแบบแอโรบิคจะออกกำลังกายด้วยระดับความหนักที่ใช้กำลังพอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป มีงานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่า การออกกำลังรูปแบบที่ต้องใช้ออกซิเจน เช่น การวิ่ง ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสุขภาพจิตให้ดีขึ้น แม้ว่าการวิจัยส่วนใหญ่เน้นเรื่องโรคซึมเศร้า อาการแพนิก โรคย้ำคิดย้ำทำ แต่ก็พบว่า การออกกำลังกายช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคกลัวการเข้าสังคมมีอาการดีขึ้น การออกกำลังกายแบบแอโรบิกนานเพียง 5-10 นาที จะช่วยปรับอารมณ์และลดความวิตกกังวลอย่างได้ผล และแนะนำให้ใช้เวลาตั้งแต่ 10-15 สัปดาห์ จะทำให้สภาพจิตใจโดยรวมดีขึ้นกว่าเดิม
จากข้อมูลคร่าว ๆ ที่ว่ามานี้ คงพอช่วยทำให้หลายคนค้นพบวิธีเพิ่มคุณภาพจิตใจ หรือเยียวยาใจตัวเอง และจุดประกายความคิดเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า ด้วยการทดลองออกกำลังกายบ้างแล้วนะครับ