โรคต่อมลูกหมากโต หรือ Benign Prostate Hyperplasia คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากซึ่งอยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะและล้อมรอบท่อปัสสาวะ ทำหน้าที่สร้างของเหลวประมาณ 30% ของน้ำอสุจิ แต่เมื่ออายุมากขึ้นอาจมีขนาดใหญ่ผิดปกติจนบีบท่อปัสสาวะให้มีขนาดเล็กหรือตีบลง พบในผู้ชายวัยกลางคนหรือมีอายุมากกว่า 45 ปี โดยเฉพาะในชายสูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไปแล้วจะพบมากขึ้นถึง 80% เลยทีเดียว
อาการต่อมลูกหมากโตเป็นอย่างไร
- มีอาการปวดปัสสาวะบ่อย หรือเมื่อปวดปัสสาวะก็จะต้องการปัสสาวะในตอนนั้นเลย
- ปัสสาวะนานกว่าปกติ ปัสสาวะไม่มีแรงขับ ปัสสาวะสะดุด ไม่ราบรื่น ติดขัด ปัสสาวะเป็นหยด ๆ
- มักจะรู้สึกเจ็บปวดยามขับถ่ายปัสสาวะ
- จากปัสสาวะคืนละหนึ่งครั้งก็เปลี่ยนเป็นต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะหลายครั้ง
- อาจมีเลือดปะปนหรือผสมออกมาในปัสสาวะ
ต่อมลูกหมากโตเป็นอันตรายไหม
ต่อมลูกหมากโตเป็นโรคที่ไม่เป็นอันตรายขั้นรุนแรงจนถึงแก่เสียชีวิต แต่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เพราะเกิดความผิดปกติของการปัสสาวะจนรบกวนการใช้ชีวิต อนึ่ง ถ้าผู้ป่วยปล่อยปะละเลยไม่รักษาจนมีอาการเรื้อรังก็อาจทำให้มีปัญหาเรื่องไตเสื่อมตามมาด้วย
ต่อมลูกหมากโตรักษาได้อย่างไร
การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตในปัจจุบันนี้จะรักษาด้วยยาช่วยคลายการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อต่อมลูกหมาก ได้แก่ ยาต้านระบบประสาทอัลฟ่า (Alpha Blocker) ช่วยยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชาย 5 อัลฟ่ารีดักเทส (DHT) และมีผลกับขนาดต่อมลูกหมาก
ผลข้างเคียงจากการกินยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต
ผู้ป่วยหลายรายอาจรู้สึกวูบหรือมีอาการหน้ามืดในตอนเช้า เวียนศีรษะ ยามต้องลุกจากเตียง ซึ่งพบได้ในระยะแรกของการรักษา ในกรณีรับประทานยาลดการบีบตัวของต่อมลูกหมาก อาจมีอาการข้างเคียงอื่นร่วมด้วย เช่น การหลั่งน้ำเชื้ออสุจิผิดปกติไปจากเดิม
ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโตมีอะไรบ้าง
- ยากลุ่มปิดกั้นแอลฟา (Alpha-Blockers) เช่น พราโซซิน (Prazosin) ด็อกซาโซซิน (Doxazosin) ซึ่งตัวยากลุ่มนี้ทำหน้าที่ลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อต่อมลูกหมาก และกล้ามเนื้อหูรูดที่คอกระเพาะปัสสาวะ มีผลทำให้ถ่ายปัสสาวะได้คล่องตัวขึ้นกว่าเดิม
- ยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์แอลฟารีดักเตส (Alpha Reductase Inhibitors) เช่น ฟิแนสเทอไรด์ (Finasteride) ทำหน้าที่ยับยั้งไม่ให้เทสโทสเตอโรนเปลี่ยนเป็นไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone) ซึ่งเป็นตัวการกระตุ้นให้เกิดต่อมลูกหมากโต เมื่อได้รับยาแล้วจะทำให้ต่อมลูกหมากเล็กลงประมาณ 30%
การรับประทานยากลุ่มต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ใช้เวลารักษาต่อเนื่องเป็นเวลานานเพื่อควบคุมอาการโรค หากได้ผลไม่ดีต้องเปลี่ยนวิธีรักษาเป็นการผ่าตัดขูดต่อมลูกหมากออกด้วยการส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ รายละเอียดนั้นขอให้ผู้ป่วยรับคำแนะนำจากแพทย์ประจำตัวจะดีที่สุด