เรื่องสั้น “ภาพเหมือนคนรักของลุงเปี๊ยก” โดย ธาร ยุทธชัยบดินทร์

เรื่องสั้น ภาพเหมือนคนรักของลุงเปี๊ยก โดย ธาร ยุทธชัยบดินทร์

อ่านเรื่องสั้นประจำสัปดาห์

ยามบ่ายของวันอาทิตย์  ถนนในตัวอำเภอชะอำดูหงอยเหงา  คงเป็นเพราะฝนที่ตกปรอย ๆ ลงมาจากท้องฟ้าสีเทาอันหม่นหมองนั่นเอง  บรรดาตึกรามร้านรวงสองฟากฝั่งถนนนราธิปจึงพากันปิดประตูเงียบงัน  ราวกับสิ่งมีชีวิตที่กำลังทอดร่างหลับไหล  

ผมเดินอยู่ตามลำพังด้วยความรู้สึกว่าการห่างหายไปนานถึงสามเดือน  ไม่ได้ทำให้เมืองนี้เปลี่ยนแปลงแม้แต่น้อย  แต่ผมกลับมาที่นี่ทำไมกันนะ  ผมถามตัวเอง แล้วตระหนักได้ว่าคำตอบนั้นเกี่ยวข้องกับภาพเขียนสีชอล์กบนแผ่นกระดาษที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยลุงเปี๊ยก  ซึ่งเวลานี้ม้วนเป็นทรงกระบอกยาวอยู่ในมือของผม  

ความจริงลุงเปี๊ยกมอบภาพนี้ให้ผมด้วยความเต็มใจ  แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้สักระยะหนึ่งผมก็คิดว่าไม่ควรรับมาเลย   แน่นอน  นั่นเป็นเพราะลุงเปี๊ยกรักภาพเขียนทุกภาพมาก  แกทะนุถนอมผลงานด้วยการม้วนแล้วห่อกระดาษหนังสือพิมพ์หนา ๆ   ภาพที่ผมนำติดมือมาก็เช่นกัน  เพียงแต่วันนี้หุ้มพลาสติกไว้อีกชั้นหนึ่งเพื่อกันฝน

“คิดยังไงเอ็งถึงได้เลือกเอาภาพสุดรักสุดหวงของลุงวะ”  ลุงเปี๊ยกเคยถามในวันที่มอบให้เป็นของที่ระลึก  เมื่อรู้ว่าผมกำลังจะย้ายไปอยู่จังหวัดอื่น

“อาจเป็นเพราะดวงตาของนางแบบกระมังครับ  ดูมีเสน่ห์จับใจมากที่สุด ที่สำคัญผมเพิ่งเคยเห็นภาพนี้ด้วย  ลุงเปี๊ยกไม่เคยนำออกมาอวดเลย” ผมตอบและกวาดสายตามองดูภาพอื่น ๆ อีกครั้งหนึ่ง  ทั้งหมดล้วนเป็นภาพวาดครึ่งตัวของหญิงสาว 7-8 คน ใช้เทคนิคสีชอล์กบนกระดาษในรูปแบบเหมือนจริง

“รักครั้งแรกของลุงเอง นางแบบภาพพอทเตรทคนนี้น่ะ  เป็นคนรักคนแรกกับความหวานชื่นยิ่งกว่ารักครั้งไหน ๆ  รู้อะไรมั้ย  ลุงสู้เก็บงำเก็บซ่อนมาหลายสิบปีแล้วว่ะ  เวลาเมียไม่อยู่ก็จะรื้อออกมาดูย้อนความหลังเล่นซะทีนึง  แต่มันก็แค่ความหลังนั่นแหละว้า  เหมือนกับความฝัน   ไม่มีประโยชน์อะไรอีกแล้ว”  

แม้ลุงเปี๊ยกจะกล่าวออกมาเหมือนไม่ใส่ใจไยดี  ทว่าดวงตาที่เคยฝ้าฟางและอ่อนล้ากลับเปล่งประกายขึ้น  จนเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาไม่ต่างจากสายตาของคนหนุ่ม  กี่ครั้งกันนะที่ผมได้เห็นแววตาของแกเป็นเช่นนั้น  ผมครุ่นคิดและตั้งคำถาม  พร้อมกันนั้นก็เร่งฝีเท้าเดินเลี้ยวเข้าซอยเล็ก ๆ  ข้างหน้า  ไม่นานนักก็ทิ้งถนนนราธิปที่กำลังง่วงเหงาไว้ทางเบื้องหลัง

ตั้งแต่รู้จักกับลุงเปี๊ยกครั้งย้ายมาอยู่ชะอำใหม่ ๆ  ผมมักจะรู้สึกว่าเวลาที่ชายชราเล่าเรื่องราวในอดีต  แกช่างดูมีชีวิตชีวาอย่างเหลือเชื่อ  เรื่องเล่าอันแจ่มชัดมักหลุดออกจากปากในระหว่างการรอคอยลูกค้ามาตัดผม  ซึ่งก็นานเหลือเกินกว่าจะมีใครแวะเวียนเข้ามาภายในร้านซอมซ่อใต้ถุนบ้านของแก   ดูเหมือนความหลังที่เจิดจ้าอยู่ในความทรงจำจะทำให้ผู้เล่ากลับกลายเป็นคนหนุ่มได้เสมอ   แน่นอน   ลุงเปี๊ยกยามพูดถึงเรื่องราวในอดีต  แกจะดูราวกับคนหนุ่มที่มากล้นไปด้วยพลังแห่งความรักและความฝัน   แต่ไม่นานนัก  หลังจากเรื่องราวบางฉากบางตอนจบลง  แกก็จะกลับไปเป็นชายชราผู้ทรุดโทรมสิ้นหวังดุจเดิม   

น่าประหลาดใจที่ชายชราที่ว่านี้ทำให้ผมคิดถึงได้เสมอ   ดังนั้นในวันว่างผมจึงชอบเดินออกจากห้องเช่าเพื่อไปสนทนากับลุงเปี๊ยกโดยไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก  นอกจากนิยายชีวิตตอนใหม่ของแกเท่านั้น   บางครั้งก็ใช้บริการตัดผมของแกบ้างเป็นการเอาใจ   ทว่าลุงเปี๊ยกรู้ทัน   เพราะผมมักจะขอให้แกเล็มแค่ปลายผมเล็กน้อยเท่านั้น  แต่จ่ายเงินตามปกติ   ตอนหลังแกเลยไม่ยอมรับเงินจากผม  

“ลุงเห็นเอ็งเหมือนลูกหลานว่ะ  ไม่คิดเงินหรอก” ลุงเปี๊ยกพูดออกมาด้วยน้ำเสียงเครือ ๆ ทว่าอ่อนโยน  ใบหน้าตกกระที่เรียวยาวกว่าคนปกติ  และแก้มตอบเหี่ยวย่นของแกเต็มไปด้วยรอยยิ้ม  ถึงกระนั้นดวงตาขุ่นฝ้าที่จมอยู่ในเบ้า  ซึ่งเกลื่อนด้วยรอยตีนกา  กลับแฝงไว้ด้วยความเศร้าลึกซึ้ง  ผมเคยเฝ้าอ่านความหมายในดวงตาของแกเสมอ  เฝ้ามองดูลักษณะภายนอกของชายวัยเจ็บสิบ  ผู้เป็นเจ้าของความร่วงโรยอันเกิดจากฝีมือของกาลเวลา  เส้นผมบาง ๆ ขาวโพลนทั่วศีรษะของแกราวกับจะบอกว่าสำหรับลุงเปี๊ยกแล้ว  โลกนี้ไม่มีความหวังเรืองรองใด ๆ  อย่างที่เราจะพบเห็นกันได้ก็แต่ในคนหนุ่มสาวเท่านั้น

แล้วด้วยเหตุผลใดกันเล่า  ในเวลาต่อมาผมจึงไปหาลุงเปี๊ยกที่ร้านตัดผมทุกวัน  แม้ว่าวันนั้นงานของผมจะยุ่งมากที่สุดก็ตาม  บางทีถ้าไม่นับนิยายชีวิตของแก  ก็คงเป็นรอยยิ้มนาน ๆ ครั้งของแกนั่นแหละ  รอยยิ้มของลุงเปี๊ยกจะเปล่งประกายขึ้นในยามที่แกมีโอกาสได้เล่าความหลังหรือนิยายของแกอย่างออกรสชาติ  

“ลุงเปี๊ยกน่าจะไปเป็นนักเขียนนะครับ  ผมว่าลุงเป็นนักเล่าเรื่องที่ดีคนนึง” ผมเคยแสดงความคิดเห็นแกมสัพยอกแกเล่น

“นักเขียนงั้นเรอะ  ก็นักประพันธ์น่ะซี” ลุงเปี๊ยกพูดพลางทำสีหน้าขึงขัง 

“ฮึ  เอ็งนี่ไม่รู้อะไรซะแล้ว  สมัยก่อนลุงเคยเขียนนิยายไว้เยอะพอตัว  แนวบู๊โลดโผนนี่ถนัดมาก  เคยตีพิมพ์ในนิตยสารสมัยโน้นด้วยนะเว้ย  ดังถึงขนาดมีคนมาขอซื้อแน่ะ  บอกว่าจะเอาไปสร้างเป็นหนังจอเงินให้มิตรเล่นคู่กับเพชรา  แต่สุดท้ายเงียบไป  ลุงก็เฉยไม่ได้ตามทวงถาม  นักเขียนเราไม่ควรคลานเข้าไปง้อนายทุนหรอกเว้ย  มันต้องมีศักดิ์ศรี  อีกอย่างช่วงนั้นกำลังอกหักพอดี  พาลเลิกเขียนนิยายไปเลย   เออ  อย่ายิ้มยังงั้น  สมัยก่อนลุงหล่อนะโว้ย  อย่าให้คุย  แต่เจ้าหล่อนทนความจนกับความขี้เมาของลุงไม่ไหวก็เลยบอกศาลา  เราแยกทางเดินกันด้วยความเจ็บปวด  ลุงมักจะเอาภาพพอทเตรทที่หล่อนนั่งเป็นนางแบบให้ลุงวาดออกมาดูเสมอ   ฝีมือวาดภาพเหมือนของลุงใช้ได้เลยนะ  อยากดูไหมล่ะ  เออ…เอาไว้วันหลัง  วันนี้อีแก่มันไม่ยอมออกไปไหน  รู้มั้ย  คนรักคนแรกและคนเก่า ๆ อีกหลายคนของลุงล้วนแต่หน้าตาแจ่ม ๆ ทั้งนั้น  อ้าว…เฮ้ย  ทำไมต้องอมยิ้มด้วย  ไม่เชื่อใช่มั้ย  เอ็งนี่มันน่าเตะจริง ๆ ซีวะ  พับผ่าเอ๊ย”  

ลุงเปี๊ยกพูดไปเหนื่อยหอบไป  แต่ก็มีรอยยิ้มปรากฏอยู่บนใบหน้าและในดวงตา ราวกับการพูดออกมานั้นคือการไขว่คว้า หาความสุขในวัยชราของตัวแกเอง  หรือไม่ก็อาจเป็นไปได้ว่า  การพูดถึงคนรักในวัยหนุ่มทำให้ภาพในอดีตของแกชัดเจนมากขึ้น  มีตัวตนมากขึ้น  ไม่รางเลือนเหมือนตอนที่เก็บงำไว้ในหัวใจ

 “ทำไมลุงเปี๊ยกถึงได้ปิดเรื่องนี้ไว้ล่ะครับ แถวนี้ไม่มีใครรู้เลยว่า…” 

“พูดไปก็อายปากว่ะ  เชอะ  นักประพันธ์  มันเป็นความหลังไปหมดแล้ว  คนเราควรอยู่กับวันนี้ไม่ใช่เรอะ  ใช่ไหมล่ะ  อดีตแม้จะหอมหวานยังไงมันก็เป็นได้แค่ความฝัน” ตอนท้ายลุงเปี๊ยกลดเสียงลงจนกลายเป็นพึมพำคล้ายพูดกับตัวเอง  ท่าทางของแกดูแก่ขึ้นไปอีกสักสิบปี  

เวลานั้นผมเกิดความสงสัยขึ้นมาว่าในอนาคตเมื่อผมมีอายุเท่ากับแก  ผมจะมีชีวิตเหมือนหรือแตกต่างไปอย่างไรบ้าง  สภาพชีวิตของลุงเปี๊ยกในช่วงบั้นปลายทำให้ผมหวั่นไหว  เมียของลุงเปี๊ยกไม่ได้ดูแลแกเลย  เรื่องการอยู่การกินลุงเปี๊ยกต้องจัดการเองทั้งสิ้น  คนในวัยปูนนี้ออกจะงก ๆ เงิ่น ๆ ทำอะไรก็ช้าจนน่ารำคาญในสายตาของคนที่ไม่เข้าใจ  ผมรู้สึกสงสารแกเสมอ   โดยเฉพาะหากบังเอิญเห็นแกเดินกระย่องกระแย่งออกไปหาซื้ออาหารมากินตามลำพัง   

จริงอยู่ที่ร้านข้าวแกงในตลาดเทศบาลชะอำ  ไม่ได้อยู่ไกลจากร้านตัดผมของลุงเปี๊ยกมากนัก  แต่ก็นับว่าไกลโขสำหรับคนในวัยเจ็ดสิบอย่างนี้  ดังนั้นก่อนจะแวะไปคุยด้วย  ผมมักเข้าตลาดเพื่อหาซื้อของกินไปฝากแก  โดยกะให้ทันเวลาอาหารมื้อเที่ยงหรือมื้อเย็น   ซึ่งลุงเปี๊ยกก็จะบ่นอย่างเกรงอกเกรงใจ  มิหนำซ้ำยังห้ามปรามอีก  แต่ผมรู้สึกว่าแกกินอาหารได้อร่อยเป็นพิเศษหากเป็นของฝากจากผม  ถึงแม้หลายต่อหลายครั้งดวงตาของแกจะเปียกชื้น  แน่นอน  มันเป็นประกายยามกระทบแสง  สวยงามแต่แสนเศร้า  หัวใจของแกคงเต็มไปด้วยความตื้นตันจนไม่อาจซ่อนเร้นเอาไว้ได้ 

“ไม่มีใครอยากเอาใจใส่หรอก คนแก่น่ะ” ลุงเปี๊ยกบ่นให้ฟังหลังอาหารเย็นวันหนึ่ง “เว้นเสียก็แต่คนแก่รวย ๆ นั่นอาจเป็นข้อยกเว้น แต่ลุงก็ไม่เคยรวยซะที  สมัยก่อนตอนทำงานหนังสือพิมพ์  เขียนนิยายไปด้วย  ลุงก็เฟื่องพอตัว  ลุงแต่งตัวดีทันสมัยเชียว   มีเงินออกไปเที่ยวเตร่เสมอ  รู้ไหมลุงลุยมาหมดแล้ว  ไล่ตั้งแต่ย่านตลาดนางเลิ้ง  บางลำพู  มาจนถึงแถวเสาชิงช้า  หน้าพระลาน ร้านดัง ๆ อย่างพูลสิน  อันเฮียงเหลา  เทียนซ้ง  หรือมิ่งหลี  ลุงเข้าไปกินเข้าไปเมานับครั้งไม่ถ้วน  กินกับพวกเพื่อน ๆ พี่ ๆ นักประพันธ์ด้วยกันนั่นแหละ  เฮ้อ…ว่าไปแล้วมันก็เป็นการฝันถึงอดีตตามประสาคนแก่  แต่เมื่อกี้ลุงว่าไงนะ  ว่าลุงฝันงั้นเรอะ  ไม่ใช่ ๆ   ลุงเลิกฝันถึงทุกเรื่องมานานเต็มทีแล้ว  แม้แต่เรื่องรวย  อันที่จริงรวยได้ก็ดีเหมือนกันนะ  คงมีคนห้อมล้อมมากหน้าหลายตา  เอ็งเห็นด้วยมั้ยวะ  เออ  แต่ตอนนี้ลุงไม่รวย  เป็นแค่คนแก่  ทำไมเอ็งถึงยังมาเสนอหน้าอยู่บ่อย ๆ ล่ะ”  

พูดจบลุงเปี๊ยกก็จ้องมองผมด้วยแววตาประหลาดใจ  คิ้วขาวบางขมวดชิด  แกมักทำแบบนี้เสมอ  นั่นยิ่งทำให้หน้าผากที่ย่นอยู่แล้วเป็นริ้วลึกมากขึ้น  เสมือนหนึ่งเป็นจารึกบอกเล่าอดีตของผู้พูดเอง

การได้พบปะกันประจำทำให้ลุงเปี๊ยกกับผมสนิทชิดเชื้อมากขึ้นเรื่อย ๆ  หากเมียแกไม่อยู่บ้าน  และคาดคะเนได้ว่าคงออกไปนาน   แกจะทยอยนำภาพอดีตคนรักออกมาอวดผมทีละภาพสองภาพ (ยกเว้นภาพหญิงสาวคนแรกของแก)  ทุกภาพม้วนห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์  แกทะนุถนอมมันเหมือนทรัพย์สมบัติล้ำค่าที่หาไม่ได้อีกแล้ว

“ให้กลับไปเขียนอีกก็ไม่ไหว ทำไม่ได้หรอก ฝีมือมันหดหาย…หายไปเหมือนกับความเป็นหนุ่มนั่นแหละ” แกทำสีหน้าปลง ๆ  นัยน์ตาลอยไร้จุดหมาย

“แล้วเรื่องเขียนหนังสือล่ะครับ  ลุงไม่คิดจะเขียนอีกหรือ”  

“นั่นยิ่งแล้วใหญ่” ลุงเปี๊ยกใช้หลังมือขยี้ตาเบา ๆ แต่ทำเป็นกลบเกลื่อนด้วยการบ่นว่าคันตรงหัวตา  จากนั้นพูดต่อไปว่า “ลุงไม่มีอะไรให้จินตนาการอีกแล้ว  หรือเอ็งคิดยังไง  เฮ้อ  ไม่เอา ๆ  อย่าไปพูดถึงมันเลย”

ผมจำได้ว่าตัวเองมองหน้าลุงเปี๊ยก  แล้วเอ่ยขึ้นอย่างกระตือรือร้น “ลองดูซีครับ  ลุงน่าจะทำได้  อย่างที่เขาพูดกันว่า…ไม่มีใครแก่เกินฝันไงครับ”  

แกทำเป็นนิ่งคิดอยู่นาน  ก่อนพยักหน้าหงึกหงักอย่างขอไปที

“ว่างแล้วจะลองดู  แต่ลุงไม่รับปากหรอกว่ะ  แค่หน้าเดียวจะเขียนได้รึเปล่ายังไม่รู้เลย  ถ้าเขียนก็คงเป็นแนวอะไรนะ  ที่เขาเรียกว่า….อัตตะ ๆ  เอ้อ  อัตตะอะไรว้า  สมองคนแก่นี่มันคิดอะไรไม่ออกอยู่เรื่อย  เหมือนมีผีเสื้อตัวสวยบินผ่านมาให้ไขว่คว้า  ครั้นจะคว้าได้ก็บินหายไปซะดื้อ ๆ”

“อัตชีวประวัติใช่มั้ยครับ” ผมโพล่งออกไป

ลุงเปี๊ยกหัวเราะปากกว้าง  มองเห็นฟันเหลืองโยกเยกที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่ซี่  แกว่า “ใช่ ๆ  มันน่าลองเหมือนกันนะ  นิยายเชิงอัตชีวประวัติของคนแก่หมดสภาพคนหนึ่ง  เขียนให้ได้ซักตอน  แล้วลุงจะให้เอ็งลองอ่านดู” กล่าวจบแกก็หัวเราะอีกครั้งด้วยน้ำเสียงเหมือนเยาะเย้ยอะไรสักอย่างหนึ่ง  ผมไม่แน่ใจนัก  อาจเป็นชีวิตของแกเองก็เป็นได้

“แค่ลุงคิดและลงมือเขียน  ลุงก็ได้ชื่อว่ากลับมาเป็นนักเขียนแล้วละครับ” ผมพยายามให้กำลังใจ

น่าเสียดาย  หลังจากลุงเปี๊ยกรับปากจะเขียนนิยายเรื่องใหม่ของแก  แทนการเล่าออกมาอย่างไม่ต่อเนื่องเหมือนที่แล้ว ๆ มา   ผมก็มัวแต่วุ่นวายอยู่กับงานของตัวเอง  อีกทั้งต้องวางแผนโยกย้ายไปอยู่ที่อื่นด้วยเหตุผลส่วนตัว  ไม่ได้มีเวลาให้กำลังใจ  หรือทวงถามแกเรื่องงานเขียนอีก  

ลุงเปี๊ยกมารู้ว่าผมจะย้ายบ้านก็แค่สองสามวันก่อนขนของ  แกทำท่ายิ้มแย้มสบายอารมณ์พร้อมกับให้ศีลให้พร  ทว่านัยน์ตาของแกอ่อนแสงลงเหมือนตะเกียงใกล้ดับ   ดูเศร้าสร้อยกว่าทุกครั้งที่แกเคยถ่ายทอดความเศร้าออกมาให้ผมรับรู้   แล้วก็เป็นครั้งนั้นเองที่แกได้เปิดโอกาสให้ผมเลือกภาพเหมือนคนรักของแกไว้เป็นที่ระลึกในยามจากกัน

“ลุงเปี๊ยกไม่เสียดายหรือครับ  อุตส่าห์เก็บรักษามานาน   อย่าเลย  ผมรู้ดีว่ามันมีค่าแก่หัวใจของลุงมาก  เก็บไว้เถอะครับ  รับรองผมไม่ลืมลุงหรอก” ผมปลอบใจแก  ขณะเดียวกันก็พยายามฝืนหัวเราะออกมา  ซึ่งฟังดูไม่เข้ากับสถานการณ์เลยแม้แต่น้อย

“ไม่เป็นไรน่า แค่เอ็งดูแลรักษาไว้แทนลุงก็พอ  อย่าทิ้งขว้าง นั่นมันภาพคนรักคนแรกของลุงเชียวนะโว้ย” ลุงเปี๊ยกพยายามทำน้ำเสียงติดตลกตามผม  แต่คนในวัยขนาดนี้ทำอะไรก็ไม่ตลกเสียแล้ว  ผมเกือบจะคิดว่าลุงเปี๊ยกจะร้องไห้ออกมาให้เห็นด้วยซ้ำ  แกคงรู้สึกว้าเหว่ขึ้นมาจับใจ  และต้องยอมรับว่าต่อแต่นี้ไป  จะไม่มีเพื่อนคราวลูกคราวหลานมานั่งฟังอดีตของแกอีกแล้ว

คิดถึงตรงนี้ผมก็รีบเร่งฝีเท้าให้เร็วขึ้น  ฝนปรอย ๆ เพิ่งจะขาดเม็ด  บ้านและร้านตัดผมของลุงเปี๊ยกปรากฏขึ้นในสายตาของผม  อีกไม่กี่นาทีเราสองคนก็จะได้พบกัน  ไม่แน่นัก  แกอาจดีใจที่เห็นผมมาเยี่ยมโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า  จนปล่อยให้น้ำตาไหลออกมาพราก ๆ ก็เป็นได้  ความคิดนี้ทำให้ผมอมยิ้ม  ก้มมองม้วนภาพเขียนในมือที่ตั้งใจเอามาคืน  มีร่องรอยหยดฝนเล็กน้อยบนห่อพลาสติก  ผมบอกตัวเองว่าอดีตของแกก็ควรอยู่กับแก  แทนที่จะอยู่กับคนอื่น  

ตอนที่เดินไปถึงหน้าบ้านของลุงเปี๊ยก   ประตูรั้วล็อคกุญแจไว้  ประตูบ้านด้านในปิดเงียบ  ผมชะเง้อมองเข้าไปจึงเห็นว่าเก้าอี้ตัดผมไม่อยู่ที่เดิมเสียแล้ว  ความรู้สึกว่างโหวงผุดขึ้นภายในใจ  เวลานั้นกลีบดอกไม้สีเหลืองบอบบางที่ผมไม่รู้จักได้ปลิวมาหล่นลงตรงแขนของผม   

ผมกดกริ่งที่เสาประตูรั้วสองครั้งติดกัน  ทว่านานหลายอึดใจกว่าจะมีเสียงถอดกลอนประตูบ้านจากด้านใน   เมียของลุงเปี๊ยกโผล่ออกมาผมเผ้ายุ่งเหยิง    ใบหน้ายับย่นแสดงความประหลาดใจแกมหงุดหงิด

“สวัสดีครับป้า  ผมมาหาลุงเปี๊ยก” ผมพูดผ่านลูกกรงประตูรั้วเข้าไป

“ไอ้เปี๊ยกเรอะ   มาหามันทำไมเอาป่านนี้   เผามันไปร่วมเดือนแล้ว  ใครอยากเจอมันคงต้องไปหาเอาในนรกนั่นแหละ” สีหน้าของเมียลุงเปี๊ยกดูหงุดหงิดยิ่งขึ้น  และทำท่าจะดึงบานประตูปิดตามเดิม แต่ผมรีบร้องเรียกเอาไว้เสียก่อน  แม้จะยังไม่หายจากอาการงุนงงแกมตกใจก็ตาม   ผมไม่คาดฝันมาก่อนว่าจะต้องมารับฟังข่าวร้าย  ใช่  มันเป็นข่าวร้ายที่ผู้บอกเล่าไม่คิดจะเกริ่นล่วงหน้าให้ผู้ฟังได้เตรียมใจไว้บ้าง  

“โธ่  ลุงเปี๊ยก ไม่น่าเลย…” ผมคราง  รู้สึกเหมือนมีก้อนเนื้อติดอยู่ตรงลำคอ  แต่ก็พยายามฝืนกล่าวออกไปว่า “ผม…ผมเสียใจด้วยครับ  ผมไม่รู้เรื่องเลย  แค่แวะมาเยี่ยม  จะเอาของมาคืนลุงเปี๊ยกด้วย  นี่ไงครับ  เป็นของที่ลุงเปี๊ยกแกหวงมาก  ป้าช่วยเก็บรักษาไว้ด้วยนะครับ”

ด้วยความตกใจและคาดไม่ถึง ทำให้ผมไม่มีสติพอจะใคร่ครวญได้ทันว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ  นอกจากยิ้มอย่างโล่งอก   เมื่อเห็นเมียลุงเปี๊ยกเดินมาหา  แต่ทันทีที่แกรับม้วนภาพเขียนผ่านลูกกรงไปคลี่ออกดู  อย่างฉับพลัน  ผู้หญิงคนสุดท้ายในชีวิตของลุงเปี๊ยกก็ฉีกภาพเหมือนนั้นออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย  ก่อนจะขยำขว้างลงบนพื้นปูนเปียกแฉะ  เศษกระดาษค่อย ๆ ดูดซับน้ำฝน  อีกไม่นานก็คงเปื่อยยุ่ย

“หนอยแน่ะ  คิดว่าเผาไปกับโลงของมันจนหมดแล้ว  ชิชะ  ยังมีเหลือโผล่มาให้กูเจ็บใจอีกจนได้” เมียลุงเปี๊ยกทรุดตัวนั่งยอง ๆ ร้องไห้โฮ  เสียงคร่ำครวญหลุดออกมาจากริมฝีปากย่น ๆ ที่แบะออก “มันใจดำเหลือเกิน  ฮือ ฮือ  ไอ้เปี๊ยกนะไอ้เปี๊ยก  มันไม่เคยวาดภาพฉันบ้างเลย  ทำไมล่ะ  ฉัน…ฉันก็เป็นเมียของมันคนนึง…”

ผมมองดูเศษกระดาษที่กลายเป็นซากความทรงจำของลุงเปี๊ยกด้วยความสะเทือนใจ  แต่ไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะสงสารลุงเปี๊ยก  หรือแท้ที่จริงแล้วผมสงสารเมียแกกันแน่ .

พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสกุลไทย มีนาคม 2553

ใส่ความเห็น