หลังจากมีข่าวออกมาว่า ยาเม็ดต้านไวรัสชื่อ “โมลนูพิราเวียร์” (molnupiravir) สามารถต้านไวรัสได้ทุกสายพันธุ์ รวมถึงไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ด้วย โดยเฉพาะโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ส่งผลให้หุ้นของบริษัท Merck & Co ซึ่งเป็นบริษัทผลิตยาขนาดใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาดีดตัวขึ้นรับข่าวนี้ทันที
หลักการทำงานของยาเม็ดต้านไวรัส “โมลนูพิราเวียร์”
ยาเม็ดต้านไวรัสใหม่นี้จะกำหนดเป้าหมายไปที่ viral polymerase ซึ่งเป็นเอนไซม์จำเป็นของไวรัสที่ใช้ในการคัดลอกรหัสพันธุกรรมของไวรัส โดยตัวยาจะทำให้รหัสพันธุกรรมของไวรัสแปรปรวนและทำงานผิดพลาด จนไม่สามารถขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ยาเม็ดต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์ใช้ตัวยาน้อยกว่าฟาวิพิราเวียร์และมีผลข้างเคียงน้อยกว่า สามารถลดการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ผลดี ลดจำนวนเชื้อไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ ในมนุษย์ได้เร็ว ลดความรุนแรงของโรค ลดการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีผลข้างเคียงต่ำ
ที่ผ่านมาทางบริษัทเมอร์คแอนด์โคได้ทำการทดลองในห้องแล็บกับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และจากการทดลองในระยะกลางพบว่าผู้ป่วยมีผลการตรวจเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาเป็นลบ หลังจากที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ แล้วเป็นเวลาห้าวัน
ความเป็นมาของ “โมลนูพิราเวียร์”
เดิมทีนั้นยาเม็ดต้านไวรัส “โมลนูพิราเวียร์” ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ และจากการวิจัยพบว่า ยาตัวนี้มีฤทธิ์ต้านไวรัสโคโรนาหลายชนิด เช่น ซาร์ (Severe Acute Respiratory Syndrome หรือ SARS) เมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome หรือ MERS) และโควิด-19 (COVID-19)
ล่าสุด โมลนูพิราเวียร์มีสถานะเป็นยาต้านไวรัสทดลอง อยู่ระหว่างการวิจัยทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 3 และอยู่ระหว่างการพิจารณาให้การรับรองโดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration)
ปัจจุบันนี้ ยาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์อันเป็นความหวังใหม่ของมนุษย์ ยังไม่มีจำหน่ายตามท้องตลาด
ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า เตรียมนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์ ถ้าผลการวิจัยสำเร็จ ประกอบกับได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องแล้ว
นพ. สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ สธ. เปิดเผยว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ออกฤทธิ์ยับยั้งการจำลองตัวเองของเชื้อไวรัสโควิด -19 โดยไม่ได้ออกฤทธิ์ต่อตัวหนาม จึงสามารถยับยั้งไวรัสโควิด -19 ได้เกือบทุกสายพันธุ์ในปัจจุบัน
จากการวิจัยในกลุ่มผู้ป่วยอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หรือคนชรา โดยทดลองให้ยาภายใน 5 วันแรก นับจากเริ่มมีอาการ พบว่ายับยั้งอาการรุนแรง ลดความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้กึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ทดลอง และไม่มีผู้เสียชีวิตภายในหนึ่งเดือน ส่วนการวิจัยในกลุ่มผู้ป่วยไวรัสโคโรนาที่มีอาการหนัก พบว่าไม่ได้ผล
อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวด้วยว่า ราคาจัดซื้อยาของแต่ละประเทศจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ถือเป็นนโยบายของบริษัทที่ต้องการกระจายยาต้านโควิดไปทั่วโลกอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม