ความเป็นมาของวันตรุษจีน : อาหาร อั่งเปา และความเชื่อต่าง ๆ

วันตรุษจีน-ความเป็นมา-อาหาร-อั่งเป่า-และความเชื่อต่าง-ๆ

ความเป็นมาของวันตรุษจีน ประวัติวันตรุษจีน หรือปีใหม่จีน

นี่คือหนึ่งในเทศกาลที่สำคัญที่สุดของชาวจีน นับเป็นวันขึ้นปีใหม่ ชาวจีนทุกคนให้ความสำคัญกับวันนี้เป็นอย่างมาก และจะหยุดทำงานกันหลายวัน โรงเรียนก็หยุดให้นักเรียนไหว้บรรพบุรุษเช่นเดียวกัน นับเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนมีความสุขหน้าใส วันตรุษจีนนี้ถือว่าเป็นประเพณีเก่าแก่ยาวนานกว่า 4,000 ปีมาแล้ว แต่ย้อนไปในยุคสมัย 2,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช วันตรุษจีนถูกเรียกว่า “ซุ่ย” หมายถึงการโคจรครบรอบของดวงอาทิตย์หนึ่งรอบ ตามความเชื่อว่าพระอาทิตย์โคจรรอบโลกนั่นเอง ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุค 1,000 ปี จึงเรียกว่า “เหนียน” หมายถึงเทศกาลแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหารที่สมบูรณ์พูนสุข ไม่อดอยากยากไร้ ต่อมายังเปลี่ยนชื่อเป็น “ชุงเจ๋” ซึ่งเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองห้วงเวลาแห่งฤดูใบไม้ผลิ ในช่วงนี้ชาวจีนจะเพาะปลูกทำไร่ไถนาครั้งใหม่ หลังจากนั้นได้กลายเป็นวัน “ตรุษจีน” โดยจะมีการเฉลิมฉลอง ดื่มกิน ท่องเที่ยว และผู้คนจะกลับไปยังบ้านเกิด เพื่อเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง ไม่ต่างจากวันสงกรานต์ของไทย ซึ่งทั้งไทยและจีนต่างก็รอคอยต้อนรับญาติพี่น้องที่กลับบ้านด้วยรอยยิ้มอย่างมีความสุข

ตรุษจีนนั้นเป็นที่รู้จักและจำได้ทั่วไปว่า เป็นการฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิอันยาวนานถึง 15 วันเลยทีเดียว ผู้คนมักจะเริ่มซื้อข้าวของต่าง ๆ ทั้งของขวัญ โคมไฟ ผ้าสี ประทัด แผ่นป้ายตัวอักษรมงคล เพื่อประดับบ้านเรือน รวมถึงจัดซื้ออาหารและเสื้อผ้าใหม่ และยังต้องมีการทำความสะอาดบ้านเรือนก่อนตรุษจีนอีกด้วย ซึ่งถือเป็นงานใหญ่มาก จุดประสงค์เพื่อกวาดเอาสิ่งไม่ดีออกไป ประตูหน้าต่างจะได้รับการทาด้วยสีแดงอันเป็นสีมงคล และจะประดับประดาด้วยกระดาษที่มีคำอวยพรอันเป็นมงคลด้วยเช่นกัน

ตำนานปีศาจเหนียน ต้นกำเนิดการจุดประทัด

การจุดประทัดนั้นเป็นอีกหนึ่งธรรมเนียมปฏิบัติสำคัญของวันนี้ ตามตำนานโบราณบอกว่า เพื่อขับไล่ปีศาจชื่อ “เหนียน” ที่จะออกมากินคนในช่วงตรุษจีนนั่นเอง เจ้าปีศาจเหนียนนี้นัยว่าเป็นสัตว์ป่าดุร้ายอยู่ในป่ารกชัฏ เง็กเซียนฮ่องเต้ลงโทษเจ้าปีศาจ ด้วยการยอมให้มันออกจากป่าเขาได้หนึ่งวันในรอบปี ประมาณว่าปล่อยผีเสียหน่อย ซึ่งเจ้าปีศาจเหนียนจะเลือกวันที่ผู้คนเริ่มออกมาเฉลิมฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ เพราะคนเยอะดี เลือกกินตามสบายปากเลย แต่มันกลัวสีแดง เสียงดัง และไฟ เหมือนสัตว์ทั่วไป ชาวจีนจึงนำกระดาษสีแดงมาติดไว้บนประตูหน้าบ้าน แขวนโคมไฟสีแดง และจุดประทัดดังปัง ๆ ตลอดวัน เมื่อเจ้าปีศาจเหนียนออกมาเจอสีแดงและเสียงประทัดดังปัง ๆ จึงตกใจเผ่นหนีกลับเข้าป่าไป และชาวบ้านก็รอดตายไปอีกปีหนึ่ง

อาหารวันตรุษจีน

อาหารค่ำในช่วงตรุษจีนประกอบด้วยอาหารและขนม ซึ่งแต่ละอย่างจะมีความหมายต่าง ๆ ดังจะได้ยกตัวอย่างต่อไปดังนี้

ไก่ หมายถึง ความสง่างาม ความพัฒนารุ่งเรือง ความก้าวหน้า และเกียรติยศ
เป็ด หมายถึง ความสามารถที่หลากหลายมากมาย
ปลา หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์พูนสุข
หมู หรือสุกร หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์พูนสุข
ปลาหมึก หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ เหลือกิน เหลือใช้

ถั่วตัด หมายถึง เงิน ธนบัตร สิ่งมีค่า
ขนมเข่ง ขนมเทียน หมายถึง ความหวานชื่นอันสมบูรณ์พูนสุข
ขนมไข่ หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง
ขนมถ้วยฟู ขนมสาลี่ หมายถึง ความรุ่งเรือง เฟื่องฟู มงคล
ซาลาเปา หมั่นโถว หมายถึง การห่อโชค ห่อลาภ
ขนมจันอับ หมายถึง ความหวานที่เพิ่มพูน มีความสุขตลอดไป ไม่อับจน

บะหมี่ หมายถึง อายุยืนยาวเป็นร้อยปีพันปี
เม็ดบัว หมายถึง การมีบุตรชายหลานชายจำนวนมาก
สาหร่ายทะเล หมายถึง ความมั่งคั่งร่ำรวย เป็นเศรษฐี มั่งมีเงินทอง
หน่อไม้ หมายถึง คำอวยพรให้มีความสุขมาก ๆ

เสื้อผ้าวันตรุษจีน

การใส่เสื้อผ้าสีแดงถือเป็นสีที่เป็นมงคล และเป็นการไล่ปีศาจเหนียน หรือปีศาจอื่น ๆ ก็ได้เหมือนกัน และสีดำหรือขาวเป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากถือว่าเป็นสีไว้ทุกข์ในงานศพ

วันต่าง ๆ ในเทศกาลตรุษจีนอย่างย่อ

1. วันจ่าย หรือ ตื่อเส็ก

คือวันที่ต้องไปหาซื้ออาหาร ผลไม้ ขนม เครื่องเซ่นไหว้ และกระดาษเงินกระดาษทอง เพื่อนำมาเตรียมพร้อมไว้ก่อน เพราะว่าวันไหว้จะเป็นวันที่ร้านค้าต่าง ๆ หยุดยาวในช่วงเทศกาลตรุษจีน  

2. วันไหว้ หรือ ซาจับ

วันนี้จะเป็นการไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ ด้วยอาหารมงคล ผลไม้มงคล กระดาษเงินกระดาษทอง และเครื่องเซ่นไหว้สำหรับใครที่อยากรู้ว่าอาหารและผลไม้มงคลที่ควรไหว้นั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งวันไหว้นั้นจะแบ่งออกเป็นสามเวลาดังนี้ 

ในตอนเช้ามืดจะเริ่มพิธีไหว้ “ป้ายเล่าเอี๊ย” เป็นการไหว้บูชาองค์เทพเจ้าต่างๆ จะมีของเครื่องประกอบการไหว้หลักๆ จะเป็นเนื้อสัตว์สามอย่าง ได้แก่ เป็ด ไก่ และหมู  ร่วมกับกระดาษเงินกระดาษทอง เหล้า และน้ำชา 

ในตอนสายจะไหว้ “ป้ายแป๋ป๋อ” ที่จะเป็นการไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว  ซึ่งในการไหว้ครั้งนี้จะใช้เวลาไม่เกินเที่ยง มีเครื่องประกอบการไหว้ คือ ซาแซ อาหารคาวรวมกับอาหารหวาน รวมทั้งมีการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เพื่อเป็นการอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ เมื่อทำพิธีเสร็จแล้วก็ถึงเวลาที่ญาติพี่น้องจะมารวมกันกินอาหารเซ่นไหว้ เพื่อความเป็นสิริมงคล และแลกอั่งเปากัน เพื่อเป็นการอวยพรให้โชคดี และมีสุขภาพแข็งแรง

จากนั้นจะทำพิธีไหว้ “ป้ายฮ่อเฮียตี๋” เป็นการไหว้วิญญาณญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เครื่องประกอบการไหว้จะเป็นจำพวก ขนมเทียน ขนมเข่ง กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัดเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย 

3.วันเที่ยว หรือ ชิวอิก

วันเที่ยวเป็นวันที่คนจีนเชื่อว่าเป็นวันมงคล ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ที่สวยงาม เน้นสีแดงเพื่อเป็นสิริมงคล และจะเดินทางไปเป็นครอบครัวเพื่อไปไหว้ขอพรผู้ใหญ่ พร้อมนำส้มไปฝาก เพราะส้มในภาษาจีนแต้จิ๋วพ้องกับคำว่าทอง จึงเหมือนการนำโชคลาภไปให้กัน

อาหารสำหรับไหว้เจ้าในวันตรุษจีน

  • เม็ดบัว – มีความหมายถึง การมีลูกหลานที่เป็นชาย
  • เกาลัด – มีความหมายถึง เงิน
  • สาหร่ายดำ – คำของมันออกเสียงคล้าย ความร่ำรวย
  • เต้าหู้หมักที่ทำจากถั่วแห้ง – คำของมันออกเสียงคล้าย เต็มไปด้วยความร่ำรวย และ ความสุข
  • หน่อไม้ – คำของมันออกเสียงคล้าย คำอวยพรให้ทุกอย่างเต็มไปด้วยความสุข
  • ปลาทั้งตัว – เป็นตัวแทนแห่งการอยู่ร่วมกันและความอุดม-สมบรูณ์
  • ไก่ – สำหรับความเจริญก้าวหน้า ซึ่งไก่นั้นจะต้องยังมีหัว หางและเท้าอยู่ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์
  • เส้นหมี่ – ไม่ควรตัดเนื่องจากหมายถึงชีวิตที่ยืนยาว

วันต่าง ๆ เพื่อการฉลองตรุษจีนแบบละเอียด

วันแรกของปีใหม่

เป็นการต้อนรับเง็กเซียนฮ่องเต้ และบรรดาเทพฟ้าและดิน

วันที่สอง

ชาวจีนจะไหว้บรรพชนและเทวดาทั้งหลาย และดูแลสุนัข เลี้ยงดู ให้อาหาร จับอาบน้ำ เชื่อว่า วันที่สองนี้เป็นวันสุนัขเกิด

วันที่สามและสี่

เป็นวันที่ลูกเขยต้องทำความเคารพแก่พ่อตาแม่ยาย

วันที่ห้า

วันนี้ทุกคนจะอยู่กับบ้านเพื่อต้อนรับการมาเยือนของเทพเจ้าแห่งความร่ำรวย ในวันนี้จะไม่มีใครไปเยี่ยมใครเพราะจะถือว่าเป็นการนำโชคร้าย

วันที่หก

ชาวจีนจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องเพื่อนฝูง และไปวัดสวดมนต์เพื่อความร่ำรวยและมีความสุข

วันที่เจ็ด

ชาวนาจะนำเอาผลผลิตของตนออกมา และปรุงน้ำที่ทำมาจากผักเจ็ดชนิดเพื่อฉลอง วันที่เจ็ดถือเป็นวันเกิด ของมนุษย์ ในวันนี้อาหารจะเป็นหมี่ซั่ว กินเพื่อชีวิตที่ยาวนาน และกินปลาดิบเพื่อความสำเร็จในชีวิต

วันที่แปด

ชาวฟูเจียนจะมีการกินอาหารร่วมกับครอบครอบอีกครั้ง และเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืน ทุกคนจะสวดมนต์ของพรจาก เทียนกง ซึ่งเป็นเทพแห่งสวรรค์

วันที่เก้า

ชาวจีนจะสวดมนต์ไหว้ และถวายอาหารแก่เง็กเซียนฮ่องเต้เพื่อเป็นสิริมงคล

วันที่สิบเรื่อยไปจนถึงวันที่สิบสอง

เป็นวันรวมญาติและเพื่อนมากินอาหารเย็น

วันที่สิบสาม

หลังจากกินอาหารอุดมด้วยไขมันมาหลายวัน วันนี้จะกินข้าวธรรมดากับกิมจิ เพื่อขจัดไขมัน

วันที่สิบสี่

เตรียมงานฉลองโคมไฟซึ่งจะจัดขึ้นในคืนวันที่สิบห้าแห่งการฉลองตรุษจีน

     

ความเชื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความตรุษจีน

  • ห้ามกวาดบ้าน เพราะเชื่อว่าจะเป็นการกวาดโชคลาภออกไปจากบ้านจนหมด
  • ห้ามตัดผม ห้ามสระผม ห้ามตัดเล็บ เพราะเชื่อว่าจะเป็นการนำความมั่งคั่งออกไป
  • ห้ามใส่เสื้อผ้าสีขาวและดำ เพราะเป็นสีไว้ทุกข์ นิยมใส่สีแดง เพราะเป็นสีแห่งความสุข และโชคดี เสื้อผ้าสีแดงเป็นสีที่นิยมสวมใส่ในช่วงเทศกาลนี้ สีแดงถือเป็นสีสว่างสดใส เป็นสีแห่งความสุข ซึ่งจะนำความสว่างสดใสมาสู่ผู้สวมใส่ และเฮงตลอดปี
  • ห้ามให้คนอื่นยืมเงิน เพราะจะทำให้เสียเงินตลอดทั้งปี
  • ห้ามพูดจาไม่ดี ห้ามพูดคำหยาบ เพราะจะทำให้ครอบครัวทะเลาะกัน และโชคร้ายตลอดปี
  • หากร้องไห้ในวันปีใหม่ เพราะมีเรื่องเสียใจไปตลอดปี
  • ในวันตรุษจีนไม่ควรสระผม เพราะจะชะล้างความโชคดีออกไป
  • ก่อนออกจากบ้านเพื่อไปเยี่ยมเยียนเพื่อนหรือญาติ ควรหาฤกษ์ที่เหมาะสมในการออกจากบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล
  • บุคคลแรกที่พบและคำพูดที่ได้ยินคำแรกของปีมีความหมายสำคัญมาก ถือว่าจะส่งผลดีตลอดทั้งปี
  • ห้ามเข้าไปในห้องนอนของคนอื่นในวันตรุษจีน ถือเป็นโชคร้ายมาก
  • ไม่ควรใช้มีดหรือกรรไกรในวันตรุษจีน เพราะจะเป็นการตัดโชคดีออกไป

อั่งเปา ซองสีแดงที่พลาดไม่ได้

โดยมีธรรมเนียมแล้ว ผู้ใหญ่ที่ผ่านการแต่งงานมาและทำงานมีรายได้แล้ว จะมอบซองสีแดงให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า หรือยังไม่ได้ทำงาน พร้อมกล่าวสวัสดีปีใหม่ ซึ่งสีแดงของอั่งเปานั้น มีความหมายถึงโชคดี และเงินที่ใส่ในซองอั่งเปานั้น จะมีจำนวนเป็นเลขนำโชคของจีนนั่นคือเลข 8

การมอบอั่งเปาซึ่งเป็นซองสีแดงเป็นธรรมเนียมที่ชาวจีนนิยมมอบให้กันในเทศกาลตรุษจีน วันแต่งงาน วันขึ้นปีใหม่ และวันขึ้นบ้านใหม่ รวมถึงวันสำคัญต่างๆ การมอบอั่งเปาในวันตรุษจีนนั้นนิยมมอบให้กับเด็ก ๆ ที่กล่าวคำอวยพรให้แก่ผู้ใหญ่ เพื่อให้มีความสุข สุขภาพยืนยาว

ในอดีตเรียกว่า แต๊ะเอีย เพราะเงินสมัยก่อนเป็นรู ร้อยด้วยเชือกสีแดง ผูกเอาไว้ที่เอว คำว่า “อั่งเปา” มีความหมายถึง ซองสีแดง ปัจจุบันมักนิยมมอบเงินใส่ซอง โดยบนธนบัตรจะมีเลข 4 หรือ 8 เพราะคล้องเสียงกับตัว “ฟา 发” ที่แปลว่ารุ่งโรจน์ ร่ำรวย เจริญยิ่งขึ้นไป

หลักการให้และรับซองอั่งเปานั้น ผู้ใหญ่จะเป็นฝ่ายเตรียมเงินใส่ซองสีแดงไว้ให้แก่เด็ก และมอบให้กับลูกหลานในครอบครัว ถ้าบุตรหลานมีรายได้ และต้องการใส่ซองอั่งเปามอบให้แก่ผู้ใหญ่ก็ทำได้ เพื่อเป็นการตอบแทนที่เลี้ยงและดูแลมานาน เป็นการแสดงความกตัญญูต้อนรับวันปีใหม่จะได้เฮงตลอดทั้้งปี

คำอวยพรเทศกาลตรุษจีน ความหมายมงคล

ในวันตรุษจีน ลูก ๆ หลาน ๆ เดินทางไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ และมอบคำอวยพรที่เกี่ยวกับทั้งสุขภาพและความร่ำรวย และแสดงถึงความกตัญญู

คำอวยพรภาษาจีนจะเขียนเป็นกลอน 4 คำ 2 กลอน เมื่อนำมาเรียงกันจะประกอบด้วยอักษรจีนทั้งหมด 8 ตัว

1. ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาฉาย (新正如意 新年发财) แปลว่า คิดหวังสิ่งใดขอให้สมหวังในปีใหม่นี้มีแต่ความสุข โชคดี ร่ำรวย ตลอดปี
2. ซินเหนียนไคว้เล่อ เซินถีเจี้ยนคัง (新年快乐 身体健康) ขอให้มีความสุขและสมหวัง สุขภาพแข็งแรงตลอดปี
3. ว่านซื่อหรูอี้ ซินเสี่ยงซื่อเฉิง (万事如意 心想事成) ขอให้เรื่องต่าง ๆ ผ่านไปโดยอย่างราบรื่น คิดสิ่งใดก็ขอให้สมหวัง

วันตรุษจีน-ความเป็นมา-อาหาร-อั่งเป่า-และความเชื่อต่าง-ๆ
วันตรุษจีน-ความเป็นมา-อาหาร-อั่งเป่า-และความเชื่อต่าง-ๆ

เว็บไซต์ nittayasan.com