โปรดอ่านและระวังเส้นเลือดหัวใจของท่าน อย่าปล่อยให้ตีบ เพราะอันตราย
โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เกิดขึ้นเพราะไขมันพอกผนังเส้นเลือดหนาขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เส้นเลือดตีบ และเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ จนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ผู้ชายจะเป็นมากกว่าผู้หญิง 3 – 5 เท่า และผู้ชายจะมีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากขึ้นเมื่ออายุ 35 ปี สำหรับผู้หญิงเริ่มเสี่ยงเมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไป
อาการเตือนภัย
- จุกบริเวคอหอย หรือใต้ลิ้นปี่
- มีอาการคลื่นไส้ ใจสั่น หายใจหอบ
- เจ็บแน่นแถวหน้าอก เหมือนมีการกดทับ
- เหงื่อซึม หน้ามืด เป็นลม กระสับกระส่าย
- เจ็บหน้าอก ปวดรามไปถึงกราม สะบักหลัง แขนซ้าย หัวไหล่
ผู้สูงอายุหรือผู้มีปัจจัยเสี่ยง เมื่อเกิดภาวะเหล่านี้ ผู้ป่วยต้องรีบเดินทางมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมารักษาช้า ทำให้มีภาวะหัวใจวายตามมาจนเสียชีวิต
การรักษา
ทำได้ด้วยวิธีการใช้ยาสำหรับผู้ที่เส้นเลือดหัวใจตีบตันไม่มากนัก ใช้การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนสำหรับผู้ที่มีเส้นเลือดตีบมาก และ ใช้การผ่าตัดบายพาสหัวใจสำหรับผู้ทำบอลลูนไม่ได้ ซึ่งจะพิจารณาตามความเหมาะสม และความรุนแรงของอาการ รวมทั้งดุลยพินิจของแพทย์ด้วย
อย่างไรก็ตาม ทุกคนสามารถป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดได้ทั้งนั้น แต่ช้าก่อน ไม่ต้องตกใจไป เพราะด้วยการออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน พยายามรับประทานอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลอย่างเหมาะสม อย่าปล่อยให้อ้วนลงพุง ระวังควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วน ลดหรือเลี่ยงการสูบบุหรี่ ซิการ์ ยาเส้น ทำอารมณ์ให้แจ่มใส ไม่เครียด และตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำทุกปี
โดย กองบรรณาธิการโต๊ะสุขภาพ